สมองซีกขวาของ "คนช่างฝัน" The Right side of your brain
       จากหนังสือพิมพ์ บิสิเนสไทย คอลัมน์ คิดนอกกรอบ โดย แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ
       ได้เขียนเกี่ยวกับ ความรู้สึกของคนว่าเคยเป็นอย่างนี้หรือไม่
       - แค่ได้ยินเสียงคนเดินก็รู้แล้วว่าใคร หรือ แค่ได้กลิ่นก็รู้แล้วว่าเป็นใคร
      - ทานอาหารเข้าไปคำเดียวรู้ได้ทันทีว่าอาหารสดหรือไม่
      - สงสัยอะไรแล้วคิดตาม ค้นหาคำตอบทันทีหรือไม่
      - กล้าที่จะเรียนรู้จากเด็กหรือคนที่ด้อยกว่าหรือไม่

 

                  ในบทความดังกล่าวพูดถึงสมองซีกขวา ซึ่งถ้าหากคนเรามีอาการดังกล่าวข้างต้น  แสดงว่าสมองซีกขวาทำงานเป็นประจำ  แต่การใช้สมองของคนทุกวันนี้   ใช้แต่คิดเรื่องลอจิก ความจำ การคำนวณ การสื่อสาร บริหาร สั่งการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย  จนทำให้สมองซีกขวาซึ่งเป็นสมองที่กระตุ้นจินตนาการ  อารมณ์  ความรู้สึก รับรู้ชั่วดี ไม่ค่อยได้ใช้กัน  ระบบการศึกษาบ้านเราก็เน้นใช้สมองซีกซ้ายตั้งแต่วัยเยาว์  ให้คิดเลข บวกเลข จดจำ อ่านหนังสือ  ไม่ค่อยได้ให้เด็กๆ ใช้จินตนาการกันเลย  จึงทำให้ประเทศไทยเรา ขาดการสร้างสรรค์งานใหม่  ขาดงานวิจัย ขาดจินตนาการและนวัตกรรม  จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจเลยที่คนไทยเรา เก่งเรื่องลอจิก  ความจำและการพร่ำพูดต่อเนื่องกันไป (นินทากาเล)       ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โลกเราล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์งานและก่อเกิดความคิดใหม่ๆ จากจินตนาการ ที่อาจเกิดจากอารมณ์และความคิดเพียงแค่แว็บเดียวเท่านั้น  แจ๊ค มินทร์ กล่าว
                จากบทความดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกเป็นห่วงเยาวชนไทยที่ขาดการกระตุ้นให้ใช้สมองซีกขวามาตั้งแต่เด็ก ทุกคนล้วนแล้วแต่ถูกสอนให้จำเป็นกระบวนการ   คิดเป็นเหตุเป็นผล  ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่คนรุ่นก่อนศึกษามาให้และมอบให้แต่ฝ่ายเดียว   ความจริงแล้วทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงและก่อเกิดสิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา ขอเพียงแต่ช่างฝัน  ช่างจินตนาการและกล้าที่จะรังสรรค์ผลงานออกมาจากรอยหยักของสมอง  ที่สำคัญต้องไม่อยู่ในกรอบแห่งความกลัว  ที่ไม่กล้าแม้แต่จะฝัน  
                ในวัยเด็ก ผมชอบต่อตัวต่อ
“เลโก”และแบบจำลองพลาสติก (Plastic Model)  เป็นของเด็กเล่นที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน    นับว่าเป็นของเด็กเล่นที่ทำให้สมองเกิดจินตนาการ และก่อให้เกิดความฝันให้เป็นอย่างนู้นอย่างนี้ตลอดเวลา หลายๆท่านคงจำได้ หากมีโอกาสได้ซื้อหามาพัฒนาสมองซีกขวาก็จะดีมาก  การต่อจิ๊กซอว์ ก็ช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายได้ดี เช่นกัน แม้แต่การวาดรูป  การเขียนหนังสือตำรา  ตลอดจนการอ่านหนังสือที่มีตัวหนังสือมากๆ ก็ดี   แจ๊ค มินทร์ กล่าวว่า “การอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกจินตนาการใหม่ๆ เพราะหนังสือมีแต่ตัวอักษรที่ต้องจินตนาการของคนอ่านจึงจะเกิดเรื่องราวที่มีชีวิตชีวา”   ซึ่งพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากการอ่านหนังสือทั้งสิ้น จึงอยากให้เด็กรุ่นใหม่รักการอ่าน  แม้แต่นายกทักษิณของเรา  ท่านก็รักการอ่านมาตั้งแต่วัยเยาว์
                ในองค์กรปัจจุบันก็ต้องการคนมีความคิด ความอ่านและระเบียบแบบแผน  แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลยที่ สถาปนิกส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จในชีวิต และประกอบอาชีพได้หลากหลาย บ้างก็เป็นพิธีกร เช่น คุณสัญญา คุณากร   คุณปัญญา นิรันดร์กุล บ้างก็กำกับการแสดง บ้างก็เล่นดนตรีเช่น วงเฉลียง  บ้างก็สร้างบ้าน ตามฮวงจุ๊ย เช่น อาจารย์ วิศิษฐ์  เตชะเกษม เป็นต้น                 ดังนั้นระบบการศึกษาบ้านเราต้องปรับกระบวนทัศน์ ใหม่ ให้โอกาสเด็กๆ รุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อายุ 6 -12 ปี  ซึ่งกำลังพัฒนาสมองถึงขีดสุด  ให้ได้มีโอกาสคิด จินตนาการ  จงอย่ากรอบความคิดสร้างสรรค์ของเขา  แต่ต้องดูแลเขาให้อยู่ในศีลธรรมจรรยาที่ถูกต้องตามครรลองคนไทย  อย่าหลงใหลในค่านิยมตะวันตกจนเสียบุคลิกวัฒนธรรมไทยไป
                ส่วนเด็กวัยรุ่น ตั้งแต่
13 – 22 ปี ก็ควรมองหาวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่  เน้นงานวิจัยและให้ใช้จินตนาการ ให้เขาได้มีโอกาสใช้พลังสมองซีกขวา  ที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้เลยในระบบการศึกษาไทย  เช่น การให้เด็กได้คิดค้นแผนธุรกิจ   คิดค้นสินค้าใหม่  คิดค้นนวัตกรรมและการทดลองใหม่ โดยไม่ต้องตีกรอบให้   ปล่อยให้เขาคิดได้อย่างอิสระ    ก็จะทำให้เขาได้พัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและขวาไปพร้อมกันอย่างสมดุล   ในอนาคตจะก่อเกิดคนรุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรม  มี Design  มีภูมิปัญญาที่เกิดจากพลังสมอง เหมือนอย่างคนที่ไม่ตีกรอบตนเอง เช่น มนุษย์ Speed of thought อย่างบิลเกตส์

สมองของคนเรามี 8 ระบบ
     1> Bodily ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
     2> Naturals ควบคุมความเข้าใจเรื่องธรรมชาติ
     3> Linguistics ควบคุมเรื่องภาษา
     4> Spatial ควบคุมการกะระยะและมิติต่างๆ
     5> Musicals ควบคุมการรับรู้และสุนทรียทางดนตรี
     6> Logicals ควบคุมความมีเหตุผลและตรรกะ
     7> Intrapersonal ควบคุมความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
     8> Interpersonals การมีทักษะสัมพันธ์กับผู้อื่นๆ

สมองส่วนหน้า (Amiddella)
  
  เป็นส่วนที่ควบคุมสัญชาตญาณดิบ (Basic Instinc) ไม่ให้เติบโต
สมองส่วนกลาง (Basal Ganglia)
    
เป็นเสมือนเลขานุการของสมอง คอยจัดระเบียบในสมอง ให้สามารถจัดเรียง การต่อบล็อคการทำสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็ว และให้มีสมาธินานพอ

    ธรรมชาติในวัยเด็ก สมองจะเจริญเติบโตเร็วมาก เรียกว่า การ Synaps ดังนั้นธรรมชาติของเด็กจึงเล่น และอยากรู้อยากเห็น เป็นเพราะสมองสั่งการ  ไม่ใช่นิสัยเด็ก สมองสั่งให้เด็กเล่น  เมื่อเด็กรู้สึกว่าได้ทำ  หรือ ทำได้ในบางเรื่องที่เขาสนใจจะเกิดการ Synaps ในสมองอย่างมหาศาล  สมองจะแบ่งเซลล์และเติบโตจนมีรอยหยักในสมอง  สร้างพื้นที่ผิวในสมองมากมาย เด็กในวัยนี้จึงควรปล่อยให้เรียนรู้มากๆ โดยเฉพาะการปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้ แบบ Self Experience ซึ่งเป็นการสร้างสรรจินตนาการที่ลึกล้ำในวัยเด็ก นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาสมองมนุษย์รุ่นใหม่  
        เพลง (Music) เป็นสิ่งที่ทำให้สมองพัฒนาเร็วมาก เพราะเพลงทำให้สมองเกิดการ Synaps เร็วกว่าการอ่านหนังสือหรือรับรู้ผ่านสายตา  สังเกตจากเด็ก ทำไมเด็กจึงร้องเพลงและจำได้ง่ายกว่าท่องอาขยาน  และนักดนตรีส่วนมากก็เรียนหนังสือเก่ง คนเรียนหนังสือเก่งก็เล่นดนตรีเก่งทั้งนั้น
        ผู้ใหญ่จึงควรหาวิธีการสร้างจุดสนใจในการนำเสนอความรู้แก่เด็ก  จะทำให้เขาสนใจและพัฒนาสมองได้เป็นอย่างดี  และให้เกิดจินตนาการมากๆ

       ในทางกลับกัน  เด็กที่เล่นเกมส์โหดร้าย  ดูภาพยนต์สื่อรุนแรง ภาพสงครามและภาพสัตว์ป่า การฆ่ากัน  ภาพแห่งความโหดร้ายต่างๆ จากสื่อ  จะทำให้สมองส่วนหน้าของเด็ก เจริญเติบโตอย่างธรรมชาติ ขาดศีลธรรมจรรยาและสัญชาตญาณดิบจะครอบงำความคิดเชิงจินตนาการ  ไม่สร้างสรรแต่จะจ้องทำลายและเข่นฆ่าเพื่อความอยู่รอด เยี่ยงสัตว์ป่า

อ.กุลฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา เรียบเรียง
จากงานสัมมนาพิเศษ เรื่องการพัฒนาสมองเด็ก  เสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2547
ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย แผนกอนุบาล