|
ไดโนเสาร์ในดินแดนอีสานประเทศไทย |
|
|||||||||||||||
|
|||||||||||||||||
ฟอสซิลไดโนเสาร์ภูเวียง |
|
แผนที่ทางธรณีวิทยา |
|||||||||||||||
ฟอสซิลไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว |
http://www.dmr.go.th/Attractive_Geo/ne/ne05.html |
|
|||||||||||||||
รอยเท้าไดโนเสาร์ภูแฝก ลักษณะของแหล่ง ธรณีวิทยา |
|
แผนที่ทางธรณีวิทยา |
ผลการศึกษาวิจัยซากไดโนเสาร์
ไดโนเสาร์ซึ่งได้รับการศึกษาวิจัยขั้นรายละเอียดโดยใช้ลักษณะของกระดูก
และฟันเป็นสำคัญจนสามารถกำหนดชื่อสกุล (genus ) และชนิด (species)
ได้มีดังต่อไปนี้
1. ฟันไดโนเสาร์กินปลา Siamosaurus suteethorni
พบที่ภูประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2529
2.
กระดูกขากรรไกรไดโนเสาร์ปากนกแก้ว สกุล Psittacosaurus ที่อำเภอคอนสวรรค์
จังหวัดชัยภูมิ เป็นสกุลที่เคยพบมาแล้วในแหล่งอื่นๆ แต่เป็นชนิดใหม่มีชื่อว่า
Psittacosourus sattayaraki พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2535
3.
กระดูกขาของไดโนเสาร์ขนาดตัวเล็กเท่าไก่ ที่ภู
ประตูตีหมามีชื่อสกุลว่า
Compsognathus ไดโนเสาร์ชนิดนี้ไม่ใช่สกุลใหม่เคยพบมาก่อนแล้วในที่อื่น ๆ
สำหรับชื่อชนิดยังไม่สามารถระบุได้
4.
กระดูกหลายส่วนของไดโนเสาร์กินพืชสกุลและชนิดใหม่ของโลก Phuwiangosaurus
sirindhornae ที่หลุมขุดค้นที่ 1 และ 2 บนอุทยานแห่งชาติภูเวียง
ซึ่งชื่อชนิดของไดโนเสาร์ชนิดนี้ได้รับพระราชทานพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ผลงานวิจัยพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2537
5.
กระดูกเท้าของไดโนเสาร์ที่มีรูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศ (Ornithomimosaur)
ที่หลุมขุดค้นที่ 5 ซึ่งข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะตั้งเป็นชื่อได้
6.
กระดูกของไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลและชนิดใหม่ของโลก ที่พบที่หลุมขุดค้นที่ 9
บนอุทยานแห่งชาติภูเวียง มีชื่อว่า Siamotyrannus isanensis พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.
2539
7. ไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุดของโลกมีชื่อว่า Isanosaurus
attavipachi พบที่อำเภอ หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.
2543
การเกิดซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์
หมายถึงซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีทั้งซากพืช ซากละอองเรณู หรือ สปอร์ของพืช ซากสัตว์
หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในอดีตที่ได้ประทับฝังไว้ในชั้นหินหรือในหิน
เมื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
จะมีส่วนประกอบของอินทรีย์สารเปลี่ยนแปลงไปจากส่วนประกอบ
แต่ยังคงรูปลักษณะโครงสร้างให้เห็นอยู่
ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยานั้น
มีอยู่หลายวิธี เช่น
1. Permineralization
ได้แก่การสะสมตัวของแร่ธาตุในเนื้อพรุนของซาก
2. Silicification
ได้แก่การที่ส่วนประกอบดั้งเดิมของซากถูกแทนที่ด้วยสารซิลิกา ในรูปของแร่ ควอรตซ์
แร่คาลซิโดนี หรือแร่โอปอ
3. Petrification ได้แก่ ซากที่กลายเป็นหินแข็ง
เนื่องจากส่วนประกอบเดิมถูกแทนที่ด้วยสารละลายซิลิกา
หรือสารแคลเซียมคาร์บอเนต
4. Carbonization ได้แก่
การที่ซากกลายเป็นสารคาร์บอนฝังในเนื้อหิน หรือเป็นถ่านหิน
5. Trace, Track,
Trail, Boring, Burrow, Cast, Mold ได้แก่ร่องรอยทางเดิน รอยหนอน รอยชอนไช รอยเจาะ
รอยพิมพ์ และรูปพิมพ์บนเนื้อตะกอน
ที่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางฟิสิกส์จนทำให้เกิดการแข็งตัวเป็นหิน
เช่นรอยเท้าสัตว์บนหินทราย รอยทางเดินบนหินดินดาน รูปพิมพ์ของสัตว์จำพวกหอย
หรือรอยเจาะในหินปูน
กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเหล่านี้ทำให้ซากดึกดำบรรพ์มีส่วนประกอบผิดไปจากซากเดิมของสัตว์หรือพืช
กระบวนการนับตั้งแต่เมื่อสัตว์หรือพืชตายลงจนกระทั่งเปิดเผยให้เห็นได้ในช่วงเวลาต่อ
ๆ มานั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยาวนานดังต่อไปนี้ คือ
1.
เมื่อสัตว์ตายลงซากอาจถูกสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์กินซากนำพาชิ้นส่วนออกไปทำให้เกิดการกระจัดกระจายของชิ้นส่วนซากขึ้น
แต่ในกรณีที่ซากไม่ถูกรบกวน แบคทีเรีย หนอน
แมลงจะทำให้เนื้อเยื่อเน่าสลายเหลือส่วนแข็ง เช่น กระดูก ฟัน
ไว้ในตำแหน่งที่สัตว์ตาย
ขั้นตอนเหล่านี้จัดเป็นขั้นตอนของการทำลายทางธรรมชาติ
2. ซากที่กระจัดกระจาย
หรือเป็นกลุ่ม ณ ที่เดิม ถูกตัวกลาง เช่น กระแสน้ำพัดพาไปยังที่แห่งใหม่
หรือน้ำนำพาตะกอนจากที่อื่น ๆ มาทับถมซากนั้นไว้ทำให้ซากไม่ถูกทำลายอีกต่อไป
กระบวนการดังกล่าวนี้ถือเป็นการเก็บรักษาซากไว้โดยธรรมชาติ
3.
ซากในชั้นดินทับถมกันมากเข้า ชั้นดินกลายสภาพเป็นชั้นหินโดยการถูกบีบอัดจนแน่นแข็ง
หรือโดยมีสารละลายเคมี เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต
หรือซิลิกาเข้าไปจับยึดเม็ดตะกอนเข้าด้วยกันซากที่อยู่ในชั้นดินจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นหินด้วยเช่นกัน
และโดยวิธีเดียวกันกับชั้นดิน
4. ซากใหม่ที่ได้รับการกลบฝังอยู่ในชั้นดินชั้นบน
นานเข้าจะกลายสภาพเป็นหินเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นกับซากในชั้นหินชั้นล่าง
ลำดับของชั้นหินที่มีซากสัตว์หรือพืชฝังปะปนอยู่ในเนื้อ
จึงเป็นเสมือนบันทึกของประวัติโลกที่บอกกล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต
อย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อเนื่องกันตามเวลาที่ผ่านไป
5.
โลกไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เปลือกโลกมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
การเกลี่ยระดับเพื่อให้เปลือกโลกราบเรียบเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ส่วนที่เป็นที่สูงจะถูกทำลายลงและถูกนำพาไปสะสมยังส่วนที่เป็นที่ต่ำ เช่น แม่น้ำ
ลำคลอง บึง ทะเลสาบ มหาสมุทร เป็นขั้นตอนการบันทึกข้อมูล
ขณะเดียวกันการแทรกดันตัวของของเหลวร้อนภายในโลกทำให้พื้นผิวโลกเปลี่ยนสภาพไป
สถานที่ที่เคยเป็นที่ต่ำเช่น ทะเล จะถูกยกตัวกลายเป็นที่สูง
เมื่อชั้นหินซึ่งมีซากฝังตัวอยู่ถูกยกตัวขึ้นเป็นพื้นที่สูง
กระบวนการทำลายโดยธรรมชาติจะเริ่มต้นอีกครั้ง ชั้นหินจะค่อยๆ
หลุดลอกออกเผยให้เห็นซากในชั้นหิน
ต่อมาชั้นหินและซากในชั้นหินจะแตกหลุดออกจากกันและถูกนำพาออกไปจากแหล่งเดิม
เพื่อสะสมตัวในที่ใหม่ ประวัติเดิมจะถูกทำลายลง
ในขณะที่ประวัติใหม่กำลังจะได้รับการบันทึก
6. นักโบราณชีววิทยา
ทำหน้าที่ตีแผ่เรื่องราวของเหตุการณ์ในอดีตและเก็บรักษาบันทึกนั้นไว้ให้คงอยู่ต่อไป
ด้วยการนำเอาซากออกจากชั้นหิน นำไปทะนุบำรุงให้ทนทานต่อสภาพในบรรยากาศโลก
และเก็บไว้ให้ปลอดภัยที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิง
การเก็บรักษาต้องเก็บเป็นระบบตามสากลและเป็นระเบียบให้สามารถค้นออกมาศึกษาได้
การประกาศให้โลกทราบถึงสิ่งมีชีวิตสกุลหรือชนิดใหม่ของโลกต้องปฏิบัติตามกติกาสากลซึ่งกำหนดว่า
ผู้ทำการเผยแพร่ข้อมูลจะต้องแจ้งสถานที่เก็บซากอ้างอิงด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้นักวิชาการทั่วโลกสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ตลอดเวลา
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
บทความวิจัยซึ่งไม่สามารถนำตัวอย่างหลักฐานมาอ้างอิงได้จะไม่ได้รับการเชื่อถือ
และไม่สามารถใช้อ้างอิงได้อีกต่อไป
ประโยชน์และการอนุรักษ์
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์และสัตว์หรือพืชทุกชนิดใช้ประโยชน์ในด้านการบอกอายุของชั้นหินและการเทียบสัมพันธ์ชั้นหิน
โดยใช้เทียบจากชั้นหินอายุเดียวกัน ที่พบในที่ต่าง ๆ กัน เป็นข้อมูลวิชาการ
ซึ่งนำไปใช้อ้างอิงได้ทั่วโลก จัดเป็นสมบัติหรือมรดกทางธรณีวิทยาของโลก
ซึ่งจะทำให้ได้ทราบถึงความเป็นมาของโลก ในช่วงที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่บนโลก
ช่วงเวลาต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังช่วงเวลาของไดโนเสาร์ว่า
โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดบ้าง จึงเป็นผลทำให้มีสภาพดังเช่นปัจจุบัน
นอกจากความสำคัญด้านการบอกอายุ การเทียบสัมพันธ์
ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของซากดึกดำบรรพ์แล้ว
ซากไดโนเสาร์นับว่ามีความสำคัญมากยิ่งขึ้นอีก
เนื่องจากไดโนเสาร์แต่ละชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น พบได้เฉพาะที่
แต่ละที่จะมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะสภาพแวดล้อมภูมิประเทศ
และขอบเขตของแผ่นดินที่อยู่อาศัย ดังนั้นซากไดโนเสาร์ และแหล่งซากไดโนเสาร์
จึงสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไปเพื่อรักษาข้อมูลเฉพาะตัวไว้
เนื่องจากมีการพบแหล่งซากไดโนเสาร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
กรมทรัพยากรธรณีจึงมีแนวนโยบายสำหรับดำเนินการในเรื่องแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ดังนี้คือ
1.
คุ้มครองซากกระดูกและแหล่งซากกระดูกไดโนเสาร์ โดยขอความร่วมมือจากจังหวัดว่า
เมื่อมีผู้พบซากไดโนเสาร์
ขอให้จังหวัดกำหนดให้ท้องถิ่นที่พบแหล่งซากไดโนเสาร์แจ้งให้จังหวัดทราบเป็นการด่วน
เพื่อทางจังหวัดจะได้ประสานกับกรมทรัพยากรธรณีให้มาดำเนินการทางด้านวิชาการและการจัดการเพื่ออนุรักษ์ซากกระดูกนั้นต่อไป
2.
พิจารณาสภาพและสถานการณ์ของแหล่งซากกระดูกไดโนเสาร์ในแหล่งต่างๆ
เพื่อการจัดการด้านวิชาการ หลุมขุดค้นบางแหล่งที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนา
จะดำเนินการทางวิชาการพร้อมจัดสร้างอาคารคลุมหลุมถาวรไว้ด้วย
ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพให้สามารถรองรับทั้งด้านการศึกษาวิจัยและด้านการท่องเที่ยวของท้องถิ่น
เมื่อได้จัดสร้างอาคารเรียบร้อยแล้ว
จะมอบให้หน่วยงานในท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เหมาะสมเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยต่อไป
3.
จัดให้มีศูนย์กลางการศึกษา วิจัยซากไดโนเสาร์ ของนักวิชาการทั่วโลกแห่งแรกของประเทศ
โดยการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางจัดแสดงข้อมูลที่ค้นพบ
จัดทำห้องปฏิบัติการสมบูรณ์แบบและคลังเก็บตัวอย่างซากกระดูกสำหรับอ้างอิงทางวิชาการที่ภูกุ้มข้าว
อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และโดยการควบคุมดูแลของกรมทรัพยากรธรณี
4.
ปรับปรุงกฎหมายให้มีบทบัญญัติด้านการอนุรักษ์แร่หรือซากดึกดำบรรพ์ให้ชัดเจน
5.
จัดทำข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับแหล่งธรณีวิทยาที่พบซากดึกดำบรรพ์หรือซากไดโนเสาร์เป็นข้อมูลวิชาการเพื่อการศึกษาค้นคว้า
6.
ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้
ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการวิวัฒนาการของทรัพยากรแร่
อันเกิดจากซากดึกดำบรรพ์หรือซากไดโนเสาร์
หรือการเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่น
และประชาชนทั่วไป ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
ในความควบคุมดูแลของกรมทรัพยากรธรณี
การอนุรักษ์แหล่งรอยเท้า
แหล่งรอยเท้าของสัตว์ในอดีต
เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่บอกให้เราทราบถึงรูปร่างภายนอกของสัตว์
ทำให้นักโบราณชีววิทยา สามารถสร้างภาพไดโนเสาร์เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตได้
ซากไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ที่พบ มักเป็นซากกระดูก การสร้างภาพจากโครงกระดูกไม่ใช่ของง่าย
ภาพที่สร้างอาจผิดไปจากของจริงอย่างสิ้นเชิงก็ได้
นอกจากนี้รอยเท้ายังเป็นเครื่องชี้นำให้เราทราบถึงเรื่องราวในอดีตของโลกของเรา
การเก็บรักษาไว้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
กรมทรัพยากรธรณีได้ขอความร่วมมือจากกรมป่าไม้และกรมชลประทาน
ในการก่อสร้างฝายน้ำล้นที่ต้นน้ำเหนือบริเวณรอยเท้าไดโนเสาร์แห่งนี้
เพื่อชะลอความแรงของกระแสน้ำ
และเพื่อให้วนอุทยานภูแฝกได้มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้ง
ทั้งนี้เนื่องจากกระแสน้ำที่รุนแรงในฤดูฝนได้พัดพาก้อนหินออกมาครูดถูกับรอยเท้าทำให้ลบเลือนไป
อย่างไรก็ดีความแรงของกระแสน้ำซึ่งได้เปิดชั้นหินที่ปิดทับรอยเท้าออกจะทำให้พบรอยเท้าใหม่ๆ
ที่ยังอาจมีหลงเหลืออยู่
ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณรอยเท้าที่ธรรมชาติได้เก็บรักษาไว้จะมีขนาดกว้างกว่านี้หรือไม่
ที่มา : http://www.dmr.go.th/Attractive_Geo/index.php
บรรณานุกรม