แนวนโยบายการศึกษาเพื่อไปสู่สังคมที่อิงฐานความรู้เป็นหลัก
(Educational Policy toward knowledge based society)
คำกล่าวปาฐกถาพิเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีเรื่อง
ปัญญาชนรุ่นใหม่กับการพัฒนาประเทศ
ในโครงการนายก
ฯ พบนิสิต นักศึกษา ครั้งที่ 1
ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 6 มีนาคม 2545
....."วันนี้ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยได้เชิญชวนท่านผู้บริหารสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน และนักศึกษา มาพบปะกันในโอกาสพิเศษ ที่ผมมีความตั้งใจไว้นานแล้วว่าผมอยากจะพบกับคนรุ่นใหม่ เพื่อจะสื่อความรู้สึกว่าผมคิดอย่างไรรัฐบาลคิดอย่างไร และรัฐบาลได้มองอนาคตของเขาอย่างไร เพื่อทุกคนจะได้เตรียมตัว จะได้เข้าใจ เพราะหลายคนกำลังจะจบการศึกษา กำลังถามว่าตัวเองจะไปทางไหน อนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไร ชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการมาพบกันจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้เข้าใจและเตรียมตัวสำหรับอนาคตของประเทศ ผมขอขอบคุณทางทบวงมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประสานความร่วมมือจากทุกมหาวิทยาลัย นักศึกษาบางคนทราบว่ามาจากต่างจังหวัด จากหลาย ๆ ที่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังสอบก็ยังอุตส่าห์มากันมากมาย ก็ต้องขอขอบคุณ ผมคิดว่าทุกคนที่มาในวันนี้คงจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย จากความเข้าใจว่าโลกข้างหน้ากำลังเกิดอะไรขึ้น และพวกท่านทั้งหลาย ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเตรียมตัวอย่างไร และพวกเราหวังอย่างยิ่งว่าพวกท่านทั้งหลายจะเป็น Generation ต่อไปที่จะมารับช่วงอย่างไรได้ให้ดีที่สุด ส่วนใหญ่ทุกคนก็อยู่ในวัยรุ่นลูกผมลูกสาวผมคนที่ 2 ก็เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีที่ 2 กำลังจะขึ้นปีที่ 3 ส่วนลูกสาวคนเล็กยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย คนโตก็กำลังจะจบ ก็รุ่นไล่ ๆ กัน ขอเล่าให้ฟังเป็นการพูดคุยกัน
ในวันนี้สังคมเราเปลี่ยนไปมาก เพราะอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ อิทธิพลของโลกไร้พรหมแดน อิทธิพลของระบบสื่อสารมวลชน ทำให้เราเปลี่ยนแปลงมาก แต่การเปลี่ยนนั้นเราขาดภูมิคุ้มกันพอสมควร บางทีเรารับเต็ม ๆ โดยที่ไม่มีการประยุกต์ คือ Copy กับ Apply คนละความหมาย บางทีเราใช้ความหมายภาษาอังกฤษผิด ๆ หลายที เพราะเราแปลภาษาไทยเราไม่เข้าใจรากศัพท์ที่แท้จริงว่าคืออะไร อย่างคำว่าเราไปเลียนแบบเขามาคือ Copy เลย ซึ่งเราต้องมาประยุกต์เข้ากับสังคมไทยเรา ซึ่งมีความแตกต่างกันมากในเชิงของวัฒนธรรม ในเชิงของประวัติศาสตร์ของประเทศเรากับประเทศต่าง ๆ นั้นก็ต่างกัน แต่วันนี้เราเองได้เลียนแบบต่างประเทศหลายอย่าง โดยไม่ได้คำนึงว่าบางทีเราเลียนแบบก็เลียนมาไม่ครบ ยกตัวอย่างวัยรุ่นในต่างประเทศนั้นเขาอาจจะมีอิสระมากจากผู้ปกครองของเขาเมื่อถึงอายุหนึ่ง แต่ความอิสระของเขานั้นเขาต้องทำงาน เลิกเรียนมาส่งหนังสือพิมพ์บ้าง ไปล้างจานบ้าง แต่บางคนระยะหลังนี้ตอนยุคอินเตอร์เน็ตเฟื่อง เลิกเรียนมาก็ไปเขียนโปรแกรมซอฟท์แวร์ เสาร์ - อาทิตย์ก็เขียน ปรากฏว่ามีรายได้มากกว่าอาจารย์ที่สอนหนังสือเขาอีก คือโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก
ประเทศไทยเรานั้นยังปรับตัวรองรับในเชิงของการสร้างสรรค์น้อยไป เราอยู่ในภาวะของความสะดวกสบายมาก พ่อแม่ก็มัวทำมาหากิน ไม่มีเวลาให้ลูก วิธีดีที่สุดคือให้เงิน ลูกก็เลยมีเครื่องอำนวยความสะดวก ที่จะใช้ชีวิตสบาย ๆ โดยอาจจะไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ตามมาหลาย ๆ อย่าง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กไทยจะต้องไม่ดี แต่ปัญหาคือว่าเราจะต้องเตรียมตัวเราอย่างไรกับชีวิตของโลกใหม่ นั่นคือสังคมวันนี้กำลังเป็นสังคมที่การทำมาหากิน เศรษฐกิจอาศัยฐานความรู้เป็นหลัก หรือเราเรียกว่า Knowledge-Based Society หรือ Knowledge-Based Economy เพราะฉะนั้นโลกต้องเปลี่ยนไปมาก พลังสมองเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าท่านลองมองประเทศอย่างสิงคโปร์ ไม่มีทรัพยากรอะไรเป็นของตัวเองเลย น้ำต้องซื้อจากมาเลเซีย อาหารต้องซื้อจากทุกประเทศ แต่ปรากฏว่าสิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก ๆ ประชากร 2 ล้านกว่าคน มีพลังสมองแค่ 2 ล้านกว่า สามารถขับเคลื่อนให้เขาเป็นประเทศที่น่าอยู่น่าลงทุนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาในการเรตติ้งทุกครั้ง แล้วประเทศไทยเรามี 60 กว่าล้านคน มีทรัพยากรเต็มที่แต่เรายังมีคนจนอยู่มาก ประเทศเป็นหนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องกลับมาทบทวนว่า เราจะใช้พลังสมองของคนไทยอย่างไรในยุค Knowledge Based Society นี่คือสิ่งที่เป็นคำถาม ที่ผมพยายามตั้งคำถามและพยายามจะชวนพวกน้อง ๆ และท้าย ๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่าผมคิดอย่างไร และจะหาทางว่าทำอย่างไร
ผมเองตอนเรียนหนังสือผมเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ตอนที่ผมเรียนปี 3 ปี 4 ผมมีแฟนแล้ว ผมเริ่มคิดแล้วว่าผมจะเอาเงินที่ไหนซื้อบ้าน ผมรับราชการตำรวจ ตอนนั้นเงินเดือนจบมาได้ 1,800 บาท บ้านไม่มีอยู่จะเอาเงินที่ไหน ผมก็เริ่มคิด เริ่มดิ้นรนเริ่มคิดว่าเราจะแก้ปัญหาชีวิตอย่างไร เพราะถึงเวลาที่เราจะต้องคิดว่าเราจะต้องมีครอบครัว เราจะต้องสร้างครอบครัว ผมจะเอาประสบการณ์กับแนวคิดมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ปรับตัวและได้คิดตั้งแต่วันนี้เพื่อจะได้มีโอกาสเตรียมตัวในวันหน้า แต่ก่อนอื่นต้องไปข้างนอกก่อน เล่าให้รู้ก่อนว่าโลกเขาเป็นอย่างไร และสังคมไทยเรามีปัญหาอย่างไรที่เราจะต้องปรับตัว
วันนี้ระบบการศึกษาของเราต้องยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลงมาก เพราะจุดอ่อนของการศึกษาของเรานั้น คือเราไม่ทำให้เด็กเป็นคนใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเราเรียนในลักษณะของการท่องจำ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยวันนี้ข้อสอบยังออกท่องจำอยู่มาก เพราะฉะนั้นทั้งอาจารย์และนักเรียนจะต้องปรับตัวทั้งคู่ ถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นลักษณะของการเรียนหนังสือแบบท่องจำซึ่งไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะเราเคยชินกับยุคสมัยที่พัฒนาตนเองขึ้นมาจากยุคของอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรมนี้เป็นลักษณะของการคิดในเชิงเดี่ยว ไม่ได้คิดในลักษณะของบูรณาการมากนัก และวันนี้เราเน้นในลักษณะของการจบปริญญา โอกาสที่จะให้คนไม่จบปริญญานั้นมีโอกาสได้ทำมาหากินยังไม่ค่อยดีพอ เพราะฉะนั้นทุกคนก็เลยคิดว่าต้องจบต้องมีประกาศนียบัตร ต้องมีปริญญาแล้วก็ไปเป็นลูกจ้าง อันนี้เป็นลักษณะของการที่เดินทางในแนวนี้มาก เราคิดอยากจะไปเป็นลูกจ้างอยากจะรับราชการ
แต่เราไม่คิดเป็นผู้ประกอบการ แล้วโอกาสการสร้างผู้ประกอบการใหม่
ๆ นั้นยังไม่ค่อยดีมากนักในสังคมไทยเรา แต่หันไปดูในอเมริการะยะหลัง ปรากฏว่ามีคนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้เรียนหนังสืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร ที่ผมพูดนี้ไม่ได้บอกไม่ให้เรียนหนังสือ แต่เขามีทางเลือก
อย่างบิลล์ เกตส์ ก็ drop
out สตีฟ จ็อบ Apple Computer ก็ drop out หรือ
ไมเคิล เดลล์ เจ้าของ เดลล์ คอมพิวเตอร์
ก็ drop out หรือว่าคนที่คิดไมโครเวฟ ก็ drop out
ท่านต้องเป็นนักคิดตั้งแต่วันนี้ ถ้าท่านไม่เป็นนักคิดตั้งแต่วันนี้ ท่านก็จะไม่สามารถที่จะคิดหาทางที่จะแหวกว่ายการต่อสู้ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้ ระบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้นอาศัยความรู้จริง ๆ ความรู้นี้มีได้ 2 แบบ แบบแรกคือความรู้ที่เป็นการเรียนอย่างเป็นทางการ กับ อีกแบบหนึ่งคือความรู้ที่เกิดจากความรอบรู้ แต่ถ้าทั้ง 2 อย่างผสมผสานกันก็เป็นสิ่งที่ดี ผมขอท้าวความ ขอเล่าให้ฟังว่า ในอดีตเราบอกว่า Information is power แต่ในสมัยนี้ Information ไม่ใช่ Power แล้ว ท่านเข้า Internet ได้ Information เต็มไปหมด แต่ Knowledge ต่างหากที่เป็น Power แต่ Knowledge ที่เป็น Power นั้นประกอบด้วย Information กับความสามารถในการวิเคราะห์และนำข้อมูลนั้นมาใช้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น Knowledge จึงเป็น Power ที่แท้จริง ไม่ใช่ Information เมื่อก่อน Information เราว่าเพียงพอแล้ว แต่วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสังคมไทยคำว่า Information ก็ยังเป็นปัญหาแล้ว แล้วจะทำให้ Information ให้เกิด Knowledge ยิ่งเป็นปัญหาหนักขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นผมถึงต้องสร้างเรื่องของ Information ให้มากขึ้น อีกสักครู่จะเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไรบ้าง
อันที่สองก็คือ อยากจะเล่าให้ฟังว่าในโลกใหม่ที่เป็น Knowledge Based นั้น ผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่นั้นจะเป็นผู้ประกอบการที่อาศัยความรู้ การศึกษามากขึ้น สมัยก่อนผู้ประกอบการรุ่นปู่รุ่นย่าเรานั้นจะเป็นลักษณะของหอบเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีนมา จบประถม 4 บ้าง ไม่จบอะไรบ้าง แล้วก็ใช้ความมานะอย่างเดียว เก็บหอมรอมริบ ก็เป็นผู้ประกอบการที่มีความสำเร็จในอดีต แต่ระยะหลังพวกคนรุ่นหลัง ๆ พอได้เรียนหนังสือดี ๆ ก็บังเอิญว่านโยบายของประเทศเราได้สนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ บริษัทที่เป็นบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ ได้เข้ามาทำงาน มาลงทุนในประเทศไทยมาก ลูกหลานของผู้ประกอบการรุ่นนั้นแทนที่จะรับช่วงของพ่อแม่ ก็ได้เรียนหนังสือดี ๆ มาเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ ๆ ผลสุดท้ายทุกคนก็มองเป็นว่าการเป็นนักบริหารรับจ้างมืออาชีพนั้นประสบความสำเร็จเพราะได้เงินเดือนดี ๆ แพง ๆ แล้วก็ได้สวัสดิการที่ดี ก็หันมาสู่การเป็นลูกจ้างมากขึ้น ตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยค่อนข้างจะเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าตั้งใจเรียนหนังสือเพื่อมาเป็นลูกจ้าง แล้วบริษัทไทยก็เริ่มเติบโตขึ้น ก็มีการจ้างงานมากขึ้น บรรดาผู้ที่เรียนจบวันนี้ผมเชื่อว่าท่านลองส่งแบบสอบถามไป ร้อยละ 95 ร้อยละ 97 บอกว่าไม่เป็นข้าราชการก็ลูกจ้าง อยากทำงานธนาคาร อยากทำงานบริษัทฝรั่ง ก็จะเป็นในแนวนี้หมด จะไม่มีเกิน 5 % แน่นอนที่บอกว่าอยากจะเป็นคนประกอบอาชีพอิสระ เช่น ไปรวมกลุ่มกันทำ Freelance หรือทำเป็นผู้ประกอบการจะไม่ค่อยมี นั่นคือสิ่งที่ผมเป็นห่วงอยู่ว่าเราจะต้องสร้างพวกท่านทั้งหลายอย่างไร ที่จะเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่
ผมเองเติบโตมาจากการเป็นผู้ประกอบการ แต่ก่อนอื่นนั้นเริ่มต้นด้วยการรับราชการแล้วลาออกมา ผมลาออกจากราชการเมื่อปี 2530 ซึ่งตอนนั้นอายุ 38 ปี แต่ผมเริ่มทำธุรกิจมา เมื่อประสบความสำเร็จแล้วจึงเข้ามาสู่การเมือง ผมสังเกตดูอเมริกา ดูเด็กรุ่นใหม่ของอเมริกาที่เติบโตมา ระยะหลังนี้เด็กรุ่นใหม่ร่ำรวยเร็วมากในอเมริกา เพราะตอนสมัยยุคอินเตอร์เน็ตบูมทั้งหลาย แต่พอหันกลับมาดูประเทศไทย เราไม่ได้เตรียมตัวเลย พอผมมาเป็นนายกรัฐมนตรีผมมีความรู้สึกว่า ผมอยากจะเตรียมตัวเด็กรุ่นใหม่คือพวกท่านทั้งหลายว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ท่านทั้งหลายได้วาดอนาคตชีวิตของตัวเองตั้งแต่วันที่ยังเป็นนักศึกษา เพื่อเตรียมตัวว่าจบมาแล้วจะได้ไม่ต้องมาเดินหางานอย่างเดียว คือต้องมีทางเลือก การหางานไม่ได้มีอะไรผิด แต่ต้องมีทางเลือก นั่นคือสิ่งที่อยากจะเรียนว่าท่านทั้งหลายจะต้องมีความรู้ในพื้นฐานว่าเราจะเตรียมตัวได้อย่างไร ในอเมริกามีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ Free Agent Nation หนังสือเพิ่งออกมา หนังสือเล่มนี้บอกว่าระยะหลังเด็กอเมริกันที่เรียนหนังสือจบแล้วมักจะหาลู่ทางไม่ไปทำธุรกิจของตัวเอง ก็จะไปรวมกลุ่มกันตั้งเป็นลักษณะ Consultant หรือตั้งเป็นลักษณะของการทำงานแบบ Freelance เป็น Freelancer มากขึ้น เพราะเขามีความรู้สึกว่ามันมีรายได้ดีกว่า เพราะว่าสังคมระยะหลังนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นเร็วมาก การไปเป็นลูกจ้างเขาก็มีความรู้สึกว่ามันช้า เขาก็เริ่มไปทำงานด้านนี้กัน นี่คือหนังสือของอเมริกาเล่มใหม่ล่าสุด
ผมก็เลยอยากจะแนะนำว่า นักศึกษาทั้งหลาย วันนี้เรามีเพื่อนฝูงกัน เรามาอยู่ร่วมกัน ข้ามมหาวิทยาลัยก็ได้ มหาวิทยาลัยเดียวกันก็ได้ ที่ต่างคนต่างเรียน เรียนหลาย ๆ วิชา เรียนหลาย ๆ คณะ ลองดูซิว่าเราจะรวมกลุ่มกันเป็นพลังในการที่จะไปทำอะไรได้บ้าง ส่วนรัฐบาลจะ Provide อะไรบ้างเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังอีกที ก็อยากจะให้คิด เพราะว่าถ้าท่านได้คุยกับอาจารย์ที่เป็นนัก Operation Research Concept ของนัก Operation Research หรือวิจัยเชิงปฏิบัติการนั้นก็คือ การที่เอาคนที่มีความรู้หลาย ๆ สาขามารวมกันเป็นทีมแล้วเข้าไปแก้ปัญหา วิเคราะห์ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่หลากหลายเข้าไปแก้ปัญหา แทนที่จะเป็นลักษณะของความรู้ด้านเดียว เพราะฉะนั้นการส่งเสริมที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมจะเป็นหัวใจของความสำเร็จในอนาคตข้างหน้า จุดอ่อนของประเทศไทยวันนี้คือต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำมากเกินไป เพราะฉะนั้นความเป็นทีมยังไม่มี ลักษณะของผู้ประกอบการสมัยก่อนเป็นลักษณะที่เป็นธุรกิจของครอบครัว ทำคนเดียว แล้วก็ทำไปเรื่อย ๆ อาศัยความชำนาญ ปรุงอาหารเก่งก็เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ก็ทำก๋วยเตี๋ยวมาตลอดเป็นเวลาสิบ ๆ ปี ไม่คิดจะทำอย่างอื่นไม่ค่อยคิดจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น แต่ระยะหลังผู้ประกอบการตอนนี้ก็เริ่มปรับตัวขึ้นมานิดหนึ่งว่าทำคนเดียวก็จริงอยู่ แต่สร้างมืออาชีพที่มีความรู้หลากหลายเข้ามา ก็เปลี่ยนไป แต่ว่าผู้ประกอบการยุคใหม่นั้นควรจะรวมทีมที่ความรู้หลาย ๆ ทางเข้าเป็นอันเดียวกันตั้งแต่ต้น
วันนี้รัฐบาลกำลังทำทุกอย่างเพื่อสร้าง Human Capital หรือด้านของทุนทางปัญญา ทุนทางบุคคลให้มากขึ้น เพราะว่าถ้าไม่เช่นนั้นเราจะยืนอยู่บนสังคมที่อาศัยฐานความรู้ไม่ไหว วันนี้แน่นอนครับเกษตรเราก็ต้องทำ อุตสาหกรรมก็ต้องทำ แต่ว่าสังคมระดับบน สังคมที่อาศัยความรู้นั้นก็ต้องพัฒนาขึ้นมา ถ้าไม่เช่นนั้นเราไม่พอใช้หนี้ ผมขอเล่าเรื่องประเทศให้ฟังก่อนว่า ประเทศวันนี้วันที่ผมมารับตำแหน่ง เราเป็นหนี้อยู่ 2.8 ล้านล้านบาท แล้วภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่ดี เราจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบของภาครัฐบาล เราจะต้องกระตุ้นด้วยเงินกู้เพราะว่ารายได้ประเทศกับค่าใช้จ่ายประจำ แล้วภาระดอกเบี้ยกับภาระเงินผ่อนที่จะต้องผ่อนหนี้นั้น รวมกันแล้วเท่ากับรายได้ประเทศพอดี ถ้าจะเป็นงบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 บาทก็ต้องกู้ แต่ว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ ไม่กระตุ้นก็แย่ เพราะฉะนั้นเลยต้องตั้งงบประมาณขาดดุลต่อ ซึ่งมันขาดดุลมาก่อนแล้ว ก็ต้องขาดดุลต่อ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินกู้ แล้วไม่รู้ว่ากระตุ้นแล้วได้ผลหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ผมเข้ามาในวันนั้น
ผมก็มาดูว่าเราจะทำอย่างไรดี เพราะผมไปเห็นความสำเร็จของหลายประเทศนั้นอาศัยสมองของคนในชาติ แต่วันนี้ผมดูแล้วว่าคนในชาติวันนี้เป็นระบบของที่ภาษาทางศาสนาเรียกว่า อัตตา หรือ Individualism สูงมาก คำว่า Nationalism อ่อนแอมาก แล้วก็พบว่ามีวิจัยล่าสุดของ University of Boston บอกว่าระบบเศรษฐกิจเสรีหรือระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่ถูกใช้ในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และล้มเหลวทั่วโลก มีความสำเร็จเพียง 5 ประเทศ คือ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น หัวใจของความสำเร็จของประเทศเหล่านี้คือคำว่า Nationalism แต่เขา Nationalism อัตตากำลังสูง เราสังเกตดูไหมว่ามีการทะเลาะเบาะแว้งกัน แบ่งฝ่ายแบ่งฝักจนไม่คำนึงถึงว่าชาติบ้านเมืองคืออะไร มีประเด็นอะไรเกิดขึ้นก็เอาเรื่องของการต้องทำลายล้างกันขึ้นมา โดยไม่คำนึงว่ากระทบต่อชาติหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง นั่นคือเป็นจุดของความล้มเหลวของระบบทุนนิยม
ประเทศไทยเราบริหารเศรษฐกิจ แน่นอนเศรษฐกิจเสรีก็คือทุนนิยม ใครอย่ามาเถียงบอกว่าไม่ใช่ทุนนิยม ทุนนิยม 100 % ในตลาดหลักทรัพย์ ระบบธนาคารระบบธุรกิจ ทุนนิยม 100 % แล้วเราก็บริหารประเทศในรูปนี้มาโดยตลอด จนมาถึงรัฐบาลผม จึงได้นำอีกระบบหนึ่งมาแก้ปัญหาสังคมส่วนล่าง เพราะว่าระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนตัวโตคนแข็งแรงเท่านั้นที่จะได้เปรียบ คนอ่อนแอมีแต่จะอ่อนแอมากขึ้น โอกาสแข็งแรงไม่มี เพราะฉะนั้นผมเลยจำเป็นต้องใช้ระบบบริหารเศรษฐกิจสองแนวทาง คือ การแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาสังคมในส่วนที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และขณะเดียวกันก็รักษาระบบทุนนิยมในส่วนบนไว้ เพราะเราเป็นสมาชิก WTO เราเป็นสมาชิกของหลาย ๆ แห่งของโลกที่จะต้องรักษาระบบเศรษฐกิจเสรี เพื่อเราต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ เราต้องการนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เราต้องการส่งออก เพราะฉะนั้นเราต้องยึดระบบส่วนบนนี้ไว้ แต่ส่วนล่างต้องเข้าไปแก้
ผมเลยต้องแก้ด้วยการที่ให้โอกาสกับคนยากคนจน ให้โอกาสกับคนในชนบท โดยเริ่มนโยบายโดยการที่ลดภาระของเขา โดยการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี แล้วเอากองทุนหมู่บ้าน ๆ ละ 1 ล้านบาท นั่นก็คือว่า จัดเงินทุนหมุนเวียนประจำหมู่บ้านไว้ทุกหมู่บ้าน และขณะเดียวกันก็ประกันสุขภาพของเขา เพราะว่าคนจนบางครั้งเขาไม่มีเงินรักษาตัวเอง ก็ประกันสุขภาพโดยใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และให้ธนาคารประชาชนให้คนจนกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อที่ให้เขาหลุดจากหนี้นอกระบบ นั้นคือการแก้ปัญหาและใช้นโยบายเศรษฐกิจส่วนล่างไปพร้อม ๆ กับนโยบายเศรษฐกิจส่วนบนคือเป็นลักษณะของที่เรียกว่า Dual Track คือต้องทำควบคู่กันไป แต่ทำตอนแรกคนที่มองด้านเดียวไม่ได้มองบูรณาการ ก็มองเหมือนว่ารัฐบาลนี้กำลังหันตัวเองปิดประเทศ หันตัวเองให้กับโลก ซึ่งคนละเรื่องกัน ก็เป็นสิ่งที่ได้เริ่มต้นแก้ปัญหาแต่ต้น ทีนี้ผมก็ต้องกลับมาดูปัญหาว่าปัญหาของระบบบริหารราชการจะทำอย่างไร ก็มีการปรับปรุงโครงสร้างของระบบราชการ เริ่มต้นด้วยโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม โดยการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบที่เรียกว่าเปลี่ยนจากระบบ Functioning เป็นระบบ Agenda Based สมัยก่อนเป็น Functioning คือว่าเรา Design องค์กรเหมือนสมัยที่ยุคอุตสาหกรรม คือเป็นเหมือน Assembly Line Approach คือแบ่งงานเป็นส่วน ๆ แล้วก็ส่วนนี้ทำเรื่องหนึ่ง ส่วนนี้ทำอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีการมองบูรณาการ จึงเป็นความอ่อนแอของระบบบริหารในยุคใหม่ ผมก็เลยต้องเปลี่ยนระบบตรงนี้โดยใช้ลักษณะของการจัดองค์กรใหม่ เรียกว่าเป็น Agenda-Based Organization คือใช้ภารกิจเป็นตัวตั้ง แล้วเอาหน่วยงานที่มีภารกิจเดียวกันมารวมกัน ไม่ใช่ว่าเอาภารกิจเดียวกันไปอยู่คนละกระทรวงบ้าง คนละกรมบ้าง ผลสุดท้ายการทำงานไม่คล่องตัว จากนี้ขั้นตอนต่อไปก็จะทำลักษณะของทำ Digitize คือ ทำ e Government คือทุกหน่วยงานของส่วนราชการก็จะมีเว็บไซด์ของตัวเอง และจะมี Server ของตัวเองที่เก็บข้อมูล แล้วเชื่อมโยงระบบทั้งหมดโดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ส่วนประชาชนเราจะพัฒนาไปถึงทำบัตรประชาชนที่ใช้สมาร์ทการ์ด เพื่อเราจะได้รู้ Profile ของตัวเอง นี่คือเบื้องต้นของการทำ Information ของประเทศ โดยรู้ Profile ของประชากรตัวเองทั้ง 63 ล้านคน รู้กระบวนการในการทำงานของส่วนราชการทั้งหมด และหลังจากนั้นเมื่อมีข้อมูลก็จะนำข้อมูลเอา Profile เหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง และวางยุทธศาสตร์แต่ละเรื่องได้ นี่คือการทำการแก้ปัญหาที่มองภาพรวมของประเทศในภาพรวมทั้งหมด ในเรื่องของโครงสร้าง เรื่องการบริหาร
เสร็จแล้วก็หันกลับมาดูภาคประชาชน ภาคเอกชน ผมมานั่งดูในปีที่จะตั้งงบประมาณปีนี้ ไปวิเคราะห์ตัวเลขพบว่า งบประมาณของรัฐถึงแม้กู้แล้ว ขาดดุลแล้ว ก็ยังเป็นเพียง 20 % ของ GDP ประเทศ 80 % ของ GDP ประเทศ เป็นภาคของประชาชนและภาคของเอกชน เพราะฉะนั้นรัฐบาลได้มองดูแล้วว่าถ้ากู้หนี้อีกเท่าไรก็รังแต่ทำให้เป็นหนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องกู้ให้น้อยลง จะต้องทำงบประมาณเข้าไปสู่งบประมาณสมดุลให้เร็วที่สุด ก็เลยส่งสัญญาณตั้งแต่ปีนี้ให้รู้ว่าผมจะขาดดุลน้อยลง ซึ่งบางทีนักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่เข้าใจ อาจจะไม่พอใจว่าทำไมผมทำอย่างนี้ ท่านไปดูเถอะสมมติว่าผมกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 100,000 ล้านบาท ดูว่ามากแต่เป็นเพียง 2% ของ GDP เท่านั้นเอง งัดไม่ขึ้นหรอก แต่ถ้าสมมติว่าแสนล้านบาทนั้นไม่ได้ไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยอ้อม นั่นก็คือเอามาสร้างพวกท่านทั้งหลาย เอามาสร้างให้คนรุ่นใหม่ที่สามารถได้ใช้ศักยภาพสมองของตัวเองทำมาหากินประกอบอาชีพ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง เอาไปสร้างผู้ประกอบการวันนี้ที่มีปัญหาให้เขาหายพ้นปัญหา เพื่อให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อีก 80 % นั้นทำงาน ไปสร้างชุมชนที่มีภูมิปัญญาเดิม มีวัฒนธรรม มีสิ่งที่ถ่ายทอดกันมาชั่วปู่ย่าตายาย ให้เกิดพลังเหล่านั้นมาสร้างเศรษฐกิจจะคุ้มกว่า นั่นคือสิ่งที่เป็น Turning Point ของการจัดสรรงบประมาณของประเทศ
เพราะฉะนั้นงบประมาณของประเทศต่อไปนี้ จึงถูกนำมาใช้เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแรง สร้างศักยภาพของมนุษย์ ของประเทศ บวกกับการสร้างศักยภาพในการทำมาหากินของคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ขาดดุลที่ต้องไปกู้เขามานั้นจะถูกใช้เท่าที่จำเป็น ถ้าเราเอามาอีลุ่ยฉุยแฉก มาทำโน่นทำนี่ มาสร้างถนนทั้ง ๆ ที่ถนนเกินความจำเป็น แต่ถ้าถนนที่มีความจำเป็นเราก็สร้าง ถนนที่เกินความจำเป็นจะสร้างเพื่อจ้างงานก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่สู้เอาเงินเหล่านั้นมาเปิดโอกาส ยกตัวอย่างในสิ่งที่เราทำกันก็คือว่า เรากระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่เสียหายไปเมื่อคราวที่แล้ว หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น เราได้มีการยึดสถาบันการเงินและขายออกไปถูก ๆ ตรงนั้นนอกจากการขายขาดทุนแล้ว ราคาสินทรัพย์ของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็วนี้ ปรากฏว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันในธนาคารก็ลดลงไปด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องงัดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่องัดขึ้นมาพร้อมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นมาอีก จึงได้มีการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็เลยให้สวัสดิการพิเศษแก่ข้าราชการได้กู้เงินซื้อบ้าน โดยให้กู้ 100% ไม่ต้องมีเงินดาวน์เพราะว่าบางคนพ่อแม่อาจจะพักบ้านหลวงอยู่ จนจะเกษียณอยู่แล้วยังไม่มีบ้านของตัวเองอยู่ นี่คือปัญหาของข้าราชการไทย พอบางคนจะเกษียณแล้วต้องให้ลูกรีบจบ เพื่อมาเป็นข้าราชการตรงนั้นต่อ จะได้สวมสิทธิ์ต่อได้อยู่ต่อ ตำรวจเป็นอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นผมก็เลยนั่งคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้เขามีบ้าน เพราะว่าสิ่งที่ทำให้เขาไม่มีบ้านคือเงินดาวน์ เพราะเขาไม่มีเงินออมพอเพียงที่จะทำเงินดาวน์ เงินดาวน์เป็นอุปสรรค สมมติว่าซื้อบ้านต้องดาวน์ 30,000 บาท พอเก็บเงินได้ครบ 10,000 บาทแทนที่จะเอาไปดาวน์บ้าน มีโทรทัศน์มีวิดีโอรุ่นใหม่มา ซื้อก่อน พอได้อีก 10,000 บาทออกมาแทนที่จะรอครบ 30,000 บาท โทรศัพท์มือถือซื้อก่อน ปัจจัยที่ 5 6 7 มันมาก่อนปัจจัยที่ 4 มนุษย์ต้องการปัจจัย 4 แต่ปรากฏว่าปัจจัยที่เป็นปัจจัย 4 เรื่องที่อยู่อาศัยกลับไม่สามารถ Afford ได้
รัฐบาลก็จึงได้ให้นโยบายโดยการให้ กบข.หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ มาให้ข้าราชการกู้เงิน 100% ปรากฏว่าคนที่สามารถที่จะกันเงิน 2,500 บาทต่อเดือนได้ก็สามารถซื้อบ้านหลังละ 500,000 บาทได้ กันเงินได้ 5,000 บาท ซื้อบ้านหลังละ 1 ล้านบาทได้ ตรงนั้นช่วยข้าราชการให้มีอนาคตว่ามีบ้านอยู่ ลูกเต้าเรียนหนังสือจบก็มีบ้านอยู่ไม่ต้องโดนหลวงยึดคืนไป และไม่มีที่อยู่ เสร็จแล้วบ้านเหล่านั้นก็จะเป็นหลักทรัพย์ให้ลูกหลานในโอกาสต่อไป และยังไม่พอ เป็นการกระตุ้นให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ฟื้นขึ้นมา ภาคก่อสร้างได้ฟื้นขึ้นมา ตรงนี้รัฐบาลใช้เงินน้อยมาก รัฐบาลใช้เงินแค่ชดเชยเรื่องของค่าใช้จ่ายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ปรากฏว่าเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้วิธีอย่างนี้กับอีกหลาย ๆ เรื่องเพื่อให้เศรษฐกิจใน Sector ต่าง ๆ ฟื้น แล้วตรงนั้นจะช่วยให้การจ้างงานขยายตัว พวกน้อง ๆ ที่จบการศึกษาวันนี้ก็จะเริ่มมีงานทำ นั่นก็คือส่วนหนึ่ง ส่วนที่นั่งรอราชการ ราชการก็พยายามกำลังจะลดขนาดลง นี่คือสิ่งที่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ฝันว่าจะเป็นข้าราชการ เพราะว่าการลดขนาดของข้าราชการเป็นสิ่งจำเป็น เพราะข้าราชการเรามีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก งบประจำสูงมาก ถ้าหากว่าประเทศเราไม่สามารถชำระหนี้ได้ ค่าเงินบาทเราก็จะอ่อนแอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาพร้อม ๆ กัน มองบูรณาการทั้งหมดว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะให้รายได้ประเทศกับรายจ่ายของประเทศสมดุลกัน นั่นก็คือทั้งเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย นี่คือของภาครัฐบาล เรื่องตำแหน่งราชการก็จะไม่มากขึ้นเท่าไร แต่ขณะเดียวกันต้องไปสร้างโอกาสทางด้านภาคเอกชน นั่นก็คือให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน
อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังทำอยู่และได้ทำไปแล้วคือ การตั้งกองทุนร่วมทุนกับการตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพทั้งหลาย เพื่อที่จะให้หนู ๆ ที่จะจบกันได้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีการศึกษา ผมใช้คำว่าการศึกษา แต่มีความรู้หรือไม่ คำว่า Knowledge นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล Knowledge นั้นต้องประกอบด้วยทั้ง Formal education กับความรอบรู้มากขึ้น ปัญญา เพราะฉะนั้นท่านจะต้องพัฒนาปัญญาของท่าน ท่านจะต้องไม่ใช่เรียนหนังสือวิชาไหนจะรู้แค่วิชานั้น ท่านจะต้องเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ต้องอ่านหนังสือ ต้องเป็นลักษณะของคนชอบอ่านหนังสือ ชอบฟัง เพื่อที่จะได้มีความรู้ที่รอบรู้มากขึ้น ท่านจะเป็นคนเดียวหรือจะรวมกลุ่มไปคิดเป็นผู้ประกอบการนั้น เป็นสิ่งที่โอกาสเปิดแล้ว สมัยรุ่นผมไม่มี สมัยรุ่นผมถ้าจะทำมาหากิน นักธุรกิจสมัยก่อนนั้นถ้าไม่มีเงินของตัวเองก็ต้องขึ้นแชร์บ้าง ต้องแลกเช็คบ้าง ต้องเอาบ้านไปจำนองบ้าง แต่นักธุรกิจรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้จะมีแหล่งเงินทุน ถ้าท่านมีไอเดียคือสมองมาก่อน ถ้าท่านมีไอเดียว่าท่านจะทำมาหากินอะไร ยกตัวอย่างง่าย ๆ บางคนเรียนหนังสือ เช่น เรียนสถาปัตย์ ก็อาจจะเดินทางไปดูหมู่บ้านทั้งหลายที่วันนี้เรากำลังส่งเสริม 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ไปเห็นเขามีผ้าสวย ทอผ้าสวย แต่ว่าเขาตัดเย็บแบบไทยขายไม่ออก แต่ท่านมีความคิดเป็นเด็กรุ่นใหม่ มองเห็นความสวยเป็น แต่สามารถประยุกต์ออกแบบได้ ท่านอาจจะไม่ต้องไปนั่งเขียนแบบ สร้างบ้านสร้างตึก ในวันนี้ท่านอาจจะไปนั่งดูว่าท่านจะมารีดีไซน์อย่างไร ตัดเย็บอย่างไร แล้วต้องลงทุน สมมติว่า 15,000 บาท ท่านอยากจะกู้ ท่านไปกู้ธนาคารออมสิน 15,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้เสร็จท่านก็ผ่อนเดือนละ 1,000 บาท ท่านก็สามารถที่จะไปลงทุนทำพวกนี้ได้ บางทีเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ดูมันเหมือนไม่โก้ แต่อดทนระยะหนึ่ง แล้วท่านจะมีความรู้สึกว่ามันมีรายได้ดี
มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ Finance ถูกออกจากบริษัท Finance ตอนช่วงที่ Finance ล้ม แกไม่รู้จะทำอะไร แกก็ไปนึกถึงทองม้วน ขนมทองม้วน แต่แกเป็นคนรุ่นใหม่ แกออกแบบทองม้วนใหม่ให้เล็ก แล้วมีเคลือบชอคโกแลต เหมือนป๊อกกี้แต่เป็นทองม้วน มันถูกกับรสนิยมคนไทยมากกว่าป๊อกกี้ด้วยซ้ำ ปรากฏว่าทองม้วนแกขายดีมาก เดี๋ยวนี้แกขายเดือนละ 1,000,000 บาท ผมถามว่าจะกลับไปทำงาน Finance บอกไม่เอาแล้วอย่างนี้สบายกว่ามาก รายได้ก็ดีกว่า แต่ตอนนั้นสมมติว่าเป็นแคชเชียร์ Finance เราก็ดูว่าโก้ แต่วันนี้อาจจะดูว่าเป็นแม่ค้าขายทองม้วนไม่โก้ แต่ความโก้กินไม่ได้ ชีวิตที่แท้จริงนั่นคือว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงครอบครัวและถึงจะยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ นั่นคือสิ่งที่เป็นความดีที่สุด จุดอ่อนของเราอีกอันหนึ่งคือ เราไม่กล้าล้มเหลว เพราะว่าสังคมเราเป็นสังคมที่เรียกว่าใครทำผิดพลาดเรียกว่าเสียผู้เสียคนเลย ถูกเย้ยหยันเยาะเย้ย แต่ว่าใครประสบผลสำเร็จนี่ ดอกไม้มากเหลือเกิน มากจนจะสำลักดอกไม้ตาย สังคมที่ไม่พอดี เพราะฉะนั้นต้องอย่าหวั่นไหว คือใจต้องมั่นคง ที่สำคัญคือใจเราอย่าปรุงแต่ง อย่าไปให้คนอื่นกำหนดชีวิตเรา อย่าให้คำพูดของคนบางคนทำให้ชีวิตเราเสียหาย เราต้องคิด ไม่มีใครรู้เราเท่าตัวเราเอง แต่บางครั้งเราไม่ยอมรู้เราเพราะเราหนีปัญหา เราหนีความเป็นจริงว่าเราไม่อยากรู้เราว่าเราเป็นอะไร เราต้องสำรวจตัวเราเองให้ชัดเจนว่าเราคือใคร แล้วเรามีศักยภาพแค่ไหน แล้วพัฒนาตัวเองจากฐานของตัวเอง จากศักยภาพของตัวเอง ถ้าเรามีฐานที่มั่นคง เราพัฒนาจากฐานที่มั่นคงแล้ว ไปตามขั้นตอนแล้ว เราจะไม่พลาด แต่บางครั้งเราถูกคนอื่นยุโดยที่เราไม่ได้กลับมาสำรวจตัวเราเอง คนที่จะพูดจะยุเขาไม่รู้เรา เราต้องกลับมาดูก่อนว่าคำยุของเขานั้นเราไปได้ไหม ถ้าไปได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไปไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยากจะบอกน้อง ๆ ว่าวันนี้โอกาสเปิดแล้ว ต้องคิด
วันนี้ผมมีโปรแกรมหนึ่ง ผมไม่รู้ว่าสมัครกันหรือยัง ที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยให้สมัคร ให้นักศึกษาของเราใช้เวลาปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ โดยการไปอยู่กับชาวบ้านในโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เพราะอะไรผมถึงคิดเรื่องนี้ขึ้นมา คืออยากให้คนรุ่นใหม่กับชุมชนท้องถิ่น ใช้ประสบการณ์ 2 ฝ่ายมาเชื่อมกันให้ 1+1 มากกว่า 2 ท่านเอาประสบการณ์ความเป็นวัยรุ่นของท่าน ความที่ท่านเห็นของสมัยใหม่ ความที่ท่านมีความรู้ เรียนบัญชีมาบ้าง รู้บัญชีเล็ก ๆ น้อย ๆ คิดเลขเป็น หรืออาจจะรู้เรื่องการตลาด หรือเรื่องการออกแบบ คนออกแบบเป็นไม่จำเป็นต้องเรียนทางด้านสถาปัตย์หรือทางด้านศิลป์ ผมมีอยู่คนหนึ่งที่เชียงใหม่ จบ ABAC ทางด้าน Business Ad เป็นคนเขียนแบบเพ้นท์เซรามิค ได้รางวัลของประเทศไทย คือมีพรสวรรค์แต่ไม่ได้มีการศึกษา แต่มีพรสวรรค์ในด้านนี้โดยตรง ก็ท่านไปอยู่กับชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็มีของดีของเขา คือมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม มีความรู้ มีภูมิปัญญาเดิม เขาก็ทำของเขา ท่านก็ไปดู ดูแล้วท่านก็เกิดการเรียนรู้ ท่านก็ไปแนะนำเขาว่า ออกแบบอย่างนี้ดีไหมป้า อย่างนี้ไม่มีใครกล้าใช้หรอกไม่สวย ลองดูซิลองดู ลองออกแบบ สองเดือนที่ท่านไปอยู่กับเขาจะเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วการเรียนรู้ครั้งนี้ เอาละท่านอยู่ปี 3 เรียนรู้แล้วท่านก็กลับมาคิด ปี 4 ท่านไปอีกที ไปดูอีกทีเกิดการเรียนรู้ต่อ แล้วทีนี้เรียนรู้ตรงนั้นไม่พอ เอาเพื่อนไปด้วย เพื่อนคนนี้จบ Food Science เราจบการตลาด อีกคนจบด้านบัญชี ด้านการเงิน 3 คนไปดู ดูเสร็จปุ๊บเกิดไอเดีย ต่อยอดเลย เอาของ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ของหมู่บ้านนั้น ท่านสั่งตามแบบของท่าน เขาผลิตท่านมาขาย ท่านก็ขายได้ ท่านก็มีรายได้ ตรงนี้บอกให้เลยว่ามีรายได้ดีกว่าเป็นลูกจ้างมาก
ถ้าท่านรู้จักประยุกต์รู้จักมอง คนที่มีหัวเป็น Entrepreneur (ผู้ประกอบการ) เห็นอะไรเป็นธุรกิจได้หมด เพราะฉะนั้นท่านต้องรีบไปดูแล้วก็เห็น ต้องพัฒนาตัวเอง นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นอยากให้ลอง เพราะว่าวันนี้เรามีงบกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นอะไรเพื่อบรรเทาพ่อแม่ของท่าน ว่าปิดเทอมนั้นไม่ต้องจ่ายเงินให้ลูกแล้ว เพราะว่าลูกมีรายได้แล้ว เราก็จะได้ภูมิใจว่านี่เรียนหนังสือมีรายได้แล้ว เพียงแต่ว่าต้องไปอยู่กับชาวบ้าน ไปเขียนรายงานกลับมาบอกครูว่าได้อะไรจากการไปอยู่ที่นั่น แค่นั้นท่านก็ได้เงินเดือน แล้วท่านได้เงินเดือนท่านก็ไปกินไปใช้ที่หมู่บ้าน ไปซื้อขนมซื้ออาหารการกิน เงินเหลือก็เก็บมา เก็บมาพ่อแม่ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้ท่าน พ่อแม่ก็จะได้มีเงินเก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนตอนเปิดเทอม คือโครงการที่ทบวงมหาวิทยาลัยเปิดรับแล้ว มีใครสมัครไปบ้างลองยกมือ ไม่มากเท่าไร ไม่สนใจหรือ หรือว่าไม่ดึงดูดใจ เดี๋ยวค่อยตอบอีกทีแล้วกัน
ผมอยากสร้างโอกาสเหล่านี้ ถ้าท่านไปเห็น ผมบอกได้เลยว่าการเรียนในห้องเรียนได้ความรู้ไม่มากเท่าการเรียนบนของจริง ที่เราเรียนว่า Activity-Based Learning , Learning by Doing การเรียนการสอนสมัยใหม่ที่จะปฏิรูปการศึกษานั้นจะเป็นลักษณะการเรียนเชิงบูรณาการ เอาความรู้ในห้องเรียนในวิชาที่เรียนนั้นหลาย ๆ วิชาไปผสมกลมกลืนในการใช้งานจริง เป็นลักษณะของเมื่อเรียนในห้องเรียนเสร็จก็ไปเรียนทำ Activity-Based Learning ก็จะทำให้มีการบูรณาการความรู้ ยกตัวอย่างเช่นเด็กประถม 1 เราให้เขาไปทำคุ้กกี้ เขาก็จะรู้ว่าคุ้กกี้ 1 แผ่นใช้แป้งเท่าไร เขาต้องการทำคุ้กกี้กี่แผ่น เพราะฉะนั้นเขาจะต้องใช้แป้งเท่าไร แป้งและสัดส่วนของแป้งกับไข่เป็นอย่างไร น้ำตาลเป็นอย่างไร นั่นคือเรียนคณิตศาสตร์ เรียนเคมี เรียนเรื่องของฟิสิกส์ ความร้อนต้องอบกี่องศา คุ้กกี้นี้ถ้าร้อนมากไปจะเป็นอย่างไร นั่นคือการเรียนรู้โดยตรง แต่ว่าเขาไม่รู้ตัวว่าเขาเรียน แต่ว่าเขาเอาความรู้ที่เขาเรียนในห้องเรียนมาใช้โดยไม่รู้ตัว แล้วก็การประยุกต์ใช้ความรู้จะเกิดขึ้น นั่นคือการเรียนรู้สมัยใหม่ ท่านเองวันนี้อาจจะมาจากหลักสูตรเดิม
แต่วันนี้รัฐบาลก็อยากจะเห็นการประยุกต์การเรียนรู้ โดยการที่เตรียมตัวท่านเอง เพื่อเข้าสู่อาชีพ เพื่อเป็นทางเลือก ท่านคิดไว้เดิมไม่ได้ผิด แต่กำลังให้ทางเลือกท่านเพื่อท่านกลับไปคิดอีกทีว่า ทางเลือกนี้เหมาะกับตัวท่านหรือไม่ เพราะทางเลือกแต่ละทางเลือกมันเหมาะกับคนไม่เหมือนกัน เพราะบางคนก็เป็น Entrepreneur ไม่ได้จริง ๆ ต้องยอมรับอันนี้ ก็เป็นทางเลือกที่เปิดให้ท่าน เมื่อเปิดทางเลือกให้ท่าน ท่านเป็นคนตัดสินว่าท่านจะรับทางเลือกนี้หรือไม่เป็นเรื่องของท่านเอง แต่วันนี้ท่านอย่าปิดตัวเอง การไปเข้าโครงการนี้ ท่านไปอยู่กับชาวบ้านแล้วท่านจะเห็น ผมเองก็เติบโตในต่างจังหวัดเคยชินกับสิ่งเหล่านี้ แต่หลังจากที่ผมอายุมาก ๆ มาอยู่กรุงเทพ ฯ แล้วก็ทำมาหากินขึ้นมาผมก็ห่างชนบท พอผมมาตั้งพรรคการเมืองผมก็กลับไปชนบทอีกที ผมมีความรู้สึกว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากเขามาก ยกตัวอย่างเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ก็ได้จากความรู้ของความสำเร็จของชุมชนบางชุมชน ที่เขาสามารถเก็บเงินจากคนที่มีเงินเหลือ แล้วก็ให้ดอกเบี้ยเขา แล้วเอาเงินที่เหลือนั้นมาให้คนที่ต้องการเงินกู้ ก็ได้เก็บดอกเบี้ย เขาก็จะเอาส่วนต่างนั้นมาสร้างสวัสดิการในชุมชน เกิดการร่วมกัน สามัคคีกัน มีน้ำใจซึ่งกันและกันในชุมชน ผมจึงตั้งเอา Concept ตัวนี้มาขยายเป็นกองทุนหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านนั้นมีการบริหารการจัดการกันเอง รัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยว ให้เขาเลือกกรรมการหมู่บ้านของเขาเอง แล้วกรรมการหมู่บ้านนั้นจะรู้จักคนในหมู่บ้าน ก็จะใช้เงิน 1 ล้านบาทเป็นเงินหมุนเวียนประจำหมู่บ้าน แล้วในที่สุดก็จะพอกพูนขึ้นเอง ที่บางแห่งตำบลหนึ่งมีถึง 70 ล้านบาท อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ก็ต้องให้สังคมได้เรียนรู้ ท่านทั้งหลายอย่าไปคิดว่าชาวบ้านอาจจะไม่รู้อะไร แต่ชาวบ้านมีอะไรบางอย่างที่เราจะต้องไปเรียนรู้ แล้วเราก็ถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้สมัยใหม่เข้าหากัน เป็นวิธีที่ลัดที่สุด คือชาวบ้านมีการศึกษาอาจจะน้อยแต่มีภูมิปัญญามีทักษะ มีสิ่งที่เรียนรู้กันมา ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ แต่กำลังจะขาดตอนจะหายไป
วันนี้เราส่งเสริมขึ้นมา เราก็เอาคนอย่างพวกท่านทั้งหลายที่เรียนหนังสือในยุคใหม่เข้าไปรวมกัน แล้วก็จะเกิดความรู้ใหม่ และในอนาคตข้างหน้าทุกตำบลจะมีอินเตอร์เน็ต เราจะมีอินเตอร์เน็ตตำบลเกิดขึ้น วันนี้มีอยู่แล้ว 2,000 กว่าตำบล ทั้งหมดมี 7,000 ตำบล เราจะขยายไปให้ครบทั้ง 7,000 ตำบลภายในปี 2546 ถ้าทุกคนที่อยู่ในตำบลได้เรียนรู้ ก็จะสามารถใช้อินเตอร์เน็ตนั้นทำ eCommerce ขายของ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ผ่านเว็บไซด์ของตัวเองได้ สามารถที่จะใช้อินเตอร์เน็ตนั้นเข้าไปดูในตำบลอื่นว่าเขามีอะไรขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากันได้ระหว่างตำบล และในที่สุดก็จะเป็นภาษาอังกฤษ สามารถที่จะขายออกไปต่างประเทศได้ สิ่งเหล่านี้ได้มีความสำเร็จแล้วในหลายประเทศ เราก็เลยคิดว่าเราควรจะเอาสิ่งที่สำเร็จในประเทศหนึ่งมาประยุกต์ใช้ ท่านทั้งหลายอย่าไปคิดว่าชาวบ้านจะไม่เข้าใจคอมพิวเตอร์จะไม่รู้คอมพิวเตอร์
ผมขอเล่าให้ที่นี่ฟัง บางคนเคยฟังผมมาหลายรอบแล้ว มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่บุรีรัมย์ สามีแกติดเหล้า แกก็เป็นหนี้ ก็เลยเล่นการพนัน แกจบประถม 4 หวังอย่างยิ่งว่าจะเล่นการพนันแล้วพ้นหนี้ ผลสุดท้ายเป็นหนี้มากขึ้น อยู่มาวันหนึ่งทีมของผมก็ไปเจอแก ก็บอก สอนทำบัญชีว่าปลูกอะไร ก็ทำบัญชีอย่างง่าย ๆ ว่ามีรายได้อะไร จ่ายอะไรทุกอย่าง ค่ายาสีฟันแปรงสีฟันเขียนลงไปหมด ตอนหลังมาก็บอกให้แกแยกบัญชีเอาเฉพาะบัญชีปลูกข้าวปลูกผัก ไปกู้เงินเขามาเท่าไร ปลูกข้าวเท่าไร ขายแล้วได้เท่าไร ปลูกผักเท่าไรขายเท่าไร ค่าปุ๋ยค่ายา พอทำบัญชีเสร็จแกเห็น ตายละ แกขาดทุนจากการปลูกข้าว แต่ปลูกผักมีกำไร ก็รีบลดพื้นที่ปลูกข้าว เพิ่มพื้นที่ปลูกผัก ก็เริ่มมีเงินเหลือ เริ่มผ่อนเงินกู้ของแกได้ ตอนนี้ก็เลยพ้นหนี้ แล้วสามีก็เลิกกินเหล้า และแกก็เลิกการพนัน วันนี้แกเล่นคอมพิวเตอร์โปรแกรม Excel ได้คล่องมากเพราะใช้ทำบัญชี วันนี้แกเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ทางคอมพิวเตอร์ประจำหมู่บ้าน ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ 5 6 ตัว เราไปตั้งให้ ปรากฏว่ามีคน มีพระมาเรียนคอมพิวเตอร์ที่บ้านแกมากที่บุรีรัมย์ อันนี้คือของจริงหมด เพราะฉะนั้นวันนี้ผมบอกว่า Human Brain นี่ดูถูกไม่ได้
ผมมีอาจารย์จาก MIT ไปที่โรงเรียนบ้านสันกำแพง ไปสอนเด็กซึ่งผมทำ Constructionalism Lab ให้เขา เป็นโรงเรียนเก่าของผม ปรากฏว่าเด็กประถม 4 โรงเรียนบ้านสันกำแพงออกแบบเว็บเพจสวยมาก แกงง แกบอกว่ามันเป็นไปได้อย่างไร เด็กประถม 4 ทำเว็บเพจเองได้อย่างดีและสวย และมีความเข้าใจได้ดี ก็เลยสรุปว่า 1.ความละเมียดในเชิงศิลปะนี้อยู่กับคนไทย อยู่ในตัวของคนไทยมากทีเดียว ขนาดประถม 4 ยังมีทักษะความละเมียด 2. สมองของเด็กไทยที่เกิดที่บ้านนอกกับที่นิวยอร์คเท่ากัน เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะให้เขาในระหว่างการเติบโตมานั้นที่ต่างกัน ก็จะทำให้การพัฒนาของสมองจากนั้นต่างกัน แต่เกิดมาไม่แพ้กันเพราะฉะนั้นต้องให้โอกาสในการพัฒนาสมอง ท่านต้องให้โอกาสพัฒนาสมองตัวเอง และสำคัญคืออย่าทำลายสมองของตัวเองด้วยการเสพยาเสพติด เพราะยาเสพติดทำลายสมองตัวเองมาก ในยุค Knowledge-Based Society ต้องใช้สมองใช้ปัญญา เพื่อยังชีพเพื่อสร้างตัวเอง แต่ถ้าสมองและปัญญาเหล่านั้นถูกทำลายด้วยยาเสพติด ยาเสพติดจะทำลายสมองส่วนหน้า เมื่อสมองส่วนหน้าของท่านเสียหายไป ความสามารถของท่านก็จะลดลงไป ยังไม่สาย ถ้าวันนี้ถ้าใครหรือเพื่อนใคร ต้องสะกิดต้องเตือนกัน ยังไม่สาย ต้องรีบเลิกเสีย และต้องเตรียมสร้างปัญญาเพื่อที่จะพร้อมในการอยู่กับสังคมฐานความรู้
ในอนาคตระบบของบริษัททั้งหลายจะเป็นระบบที่ต้องการพวกท่านทั้งหลาย เขาถือว่าเป็นพวกที่ทำงานเป็น Knowledge Worker เมื่อเป็น Knowledge Worker เขาต้องการอะไรจากท่านบ้าง 1. ท่านต้องสามารถนั่งบนหน้าจอ เคาะอินเตอร์เน็ตซึ่งมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพียงพอให้ท่าน แล้วท่านจะต้องตัดสินใจเป็นบนฐานข้อมูลในระดับหนึ่ง Knowledge Worker จะมี Authority ในการตัดสินใจต่าง ๆ แทนด้วย หลังจากนั้นท่านก็จะค่อย ๆ เติบโตไป แล้วก็คนที่จะไปทำงานในบริษัทเอกชนนั้น ไม่ได้หมายความว่าท่านจะด้อยกว่าพวก Entrepreneur หรือ Entrepreneur จะด้อยกว่า เพราะทุกอย่างอีกหน่อยคนจะแย่งคนมีความรู้ จะแย่งสมองคน เพราะว่าทุกองค์กรนั้นจะเติบโตเติบใหญ่ได้ต้องพลังสมองของคนในองค์กร เขาจะทำอย่างไรถึงจะใช้พลังสมองคนในองค์กรให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นเขาจะแย่งกัน เมื่อแย่งกันภาคธุรกิจจะทำอย่างไรรู้ไหม ภาคธุรกิจนอกจากจะจ้างท่านมาแล้ว จะต้องรักษาท่านไว้ เพราะเมื่อเทรนท่านแล้ว ท่านเก่งแล้วเดี๋ยวท่านออกไปจะเดือดร้อน เขาก็จะให้ Stock Option หรือให้หุ้น ถ้าท่านอยู่กี่ปีท่านจะได้หุ้น ท่านอยู่มาถึงตรงนี้หุ้นท่านได้แล้ว ท่านจะต้องอยู่ต่ออีกกี่ปีถึงจะขายหุ้นได้ เพื่อจะดึงท่านไว้ เพราะฉะนั้นใน Professional ข้างหน้า ก็สามารถมีเงินได้เป็นร้อยล้านเช่นกัน แต่ว่าท่านจะต้องเป็น Professional ที่มี Royalty สูง มีความเก่ง เพราะฉะนั้นท่านเองจะต้องพัฒนาตัวเองตั้งแต่วันนี้
โลกข้างหน้าเป็นโลกที่ไร้พรหมแดน เพราะฉะนั้นเขาคาดหวังจากคนรุ่นใหม่อย่างพวกท่านอย่างไรบ้าง คาดหวังให้ท่านมีความรู้ 3 อย่าง 1.อินเตอร์เน็ต 2.ภาษาอังกฤษ 3.วัฒนธรรมนานาชาติ เพราะว่าทุกอย่างเป็นสากล การค้าขายข้ามชาติทำง่ายมาก ทำผ่านอินเตอร์เน็ตก็ได้ แล้วต่อไปข้างหน้า ประเทศไทยเราถึงต้องทำ eGovernment ทำ e-Citizen และ eSchool ภายใน 2 ปี ทุกโรงเรียนมัธยมจะมีอินเตอร์เน็ต ภายใน 4 ปีทุกโรงเรียนประถมก็จะมีอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตจะเข้าสู่ทุกโรงเรียนภายในสิ้นปี 2547 หรือต้นปี 2548 เป็นอย่างช้า นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ Modernize ประเทศไทยแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันนั้นต้องการพลังสมองจากพวกท่านทั้งหลาย พวกเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องตื่นตัวมากกว่านี้และสนใจเรื่องของประเทศชาติให้มากขึ้น เวลาทำอะไรตัดสินใจบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง แล้วส่วนตัวเราได้เอง แต่ถ้าเมื่อไรคนเห็นแก่ตัวโดยไม่คิดว่ามันจะทำลายองค์กรที่เราอยู่หรือทำลายประเทศชาติ อันนั้นเป็นอันตรายต่อตนเองและต่อประเทศด้วย เราจะต้องช่วยกันและผมเองในฐานะที่เป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และวันนี้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และจะไม่สนใจใครจะพูดอะไร เพราะความเข้าใจอาจจะไม่เท่ากัน การมองบูรณาการอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครว่า เราฟัง ฟังเสร็จแล้วเราคิดว่าสิ่งที่เราทำถูกก็ต้องทำต่อไป มุ่งมั่นต่อไป จะไม่ถอย วันนี้หน้าที่ของผมคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วางระบบของการบริหารภาครัฐ วางระบบเข้าไปสู่การเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้มแข็งเพื่อคนรุ่นหลัง นั่นคือหน้าที่หลักของผม ขอจบการบรรยายเท่านี้ เผื่อท่านจะมีอะไรซักถาม"...
ปาฐกถาของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีเรื่อง
แนวคิดเรื่องสถาบันพัฒนาความรู้แห่งชาติ
ในโอกาสเป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง
มิติใหม่ :
ระบบหนังสือสาธารณะ
ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
วันพุธที่ 19 มีนาคม
2546
......"วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศที่เรามารวมกันที่นี่ เพื่อที่จะระดมความรู้และประสบการณ์เพื่อที่จะมาสร้างสถาบันพัฒนาความรู้แห่งชาติ และจะมาสร้างมิติใหม่แห่งการพัฒนาการอ่าน การรักการอ่าน การเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนของเรา ในขณะที่ช่วง 3 เดือนนี้ เป็นช่วง 3 เดือนแห่งการประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งทำลายอนาคตและทำลายสมองเยาวชนของชาติ และในห้องนี้เรากำลังทำอีกมิติหนึ่งเพื่อที่จะสร้างเยาวชนของชาติที่ไม่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดทั้งหลายให้อยู่ในสังคมนี้อย่างมีความสุข อยู่อย่างมีความรู้เพื่อเตรียมตัวเองให้เข้าสู่สังคมฐานความรู้ วันนี้ประเทศไทยมีจุดด้อยหลายเรื่องที่เราต้องแก้ แต่ที่แก้ไม่ได้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าการเมืองไม่มีความต่อเนื่อง หรือการเมืองที่คิดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป (NEXT ELECTION ) มากกว่าคนรุ่นต่อไป ( NEXT GENERATION ) เพราะฉะนั้น วันนี้โอกาสที่การเมืองจะนึกถึง NEXT GENERATION โอกาสที่พวกเรากำลังถูกภัยที่ใกล้ตัวเข้ามาจี้ว่าสังคมไทยกำลังอันตราย เรากำลังจะเข้าสู่สังคมฐานความรู้ที่มีความรู้ในลักษณะท่องจำ ความรู้ในลักษณะที่บูรณาการไม่เป็น ความรู้สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะเรียนรู้ตลอดชีวิต ความรู้ที่คิดว่าเรียนจบปริญญาได้ใบประกาศนียบัตรมา 1 ใบ ตรี โท หรือเอกก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่การันตีชีวิตทั้งชีวิตแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดและใช้ไม่ได้อีกแล้วในโลกยุคใหม่ โลกยุคใหม่เราต้องการคนซึ่งจบหรือไม่จบอะไรก็ได้ แต่ชีวิตต้องรักการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้ตลอดชีวิต นั่นคือสิ่งที่สำคัญ คนที่จบแล้วไม่เรียน กับคนที่ไม่จบแล้วเรียนไม่เลิก ผมยังเลือกคนที่ไม่จบแต่เรียนตลอดชีวิตมากกว่า คนที่จบแล้วไม่เรียนต่อแล้วสำคัญตัวผิดคิดว่าตัวเองรู้มากแล้ว และไปครอบงำความคิดของคนอื่นนั้นอันตรายยิ่งกว่าใดๆทั้งสิ้น ซึ่งผมอยากจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่สร้างบรรยากาศแห่งการใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับคนไทยทั้งชาติ
เรื่องอินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำไมอินเตอร์เน็ตจึงมีปัญหากับเยาวชนไทยในระดับที่สูงกว่าระดับของเยาวชนในต่างประเทศ ก็เพราะเราสอนเยาวชนของเราไม่ให้ใฝ่เรียนรู้ บังคับให้เขาท่องจำ เขาจึงไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่รักการอ่าน อินเตอร์เน็ตเป็นสังคมที่ต้องรักการอ่านจึงจะเกิดประโยชน์ ถ้าสังคมไม่รักการอ่าน สังคมรักความสนุก ซึ่งคงไม่มีใครห้ามไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีมาอยู่ในอินเตอร์เน็ตได้ทั้งหมด แต่แน่นอนว่าตัวเลือกของคนอยู่ที่วัฒนธรรมที่คนเหล่านั้นสั่งสมมา แต่ถูกสั่งสมวัฒนธรรมที่ผิดก็จะไปสู่สิ่งที่ผิด นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องตระหนักและเสียสละ ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ต้องปรับตัวเราเองให้เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียนจึงจะถ่ายทอดความใฝ่รู้ใฝ่เรียนนี้ไปให้เด็กได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนเสียเองแล้วอย่าหวังว่าจะถ่ายทอดความใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับเด็กได้ เด็กวันนี้ฉลาดมาก คำพูดของผู้ใหญ่ทุกคำเด็กนำไปวิเคราะห์ แต่จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่มาจากใจของผู้ใหญ่ เด็กรู้ว่าใจของผู้ใหญ่คิดอย่างไร เพราะฉะนั้นการที่จะไปแนะนำเด็กในวันนี้นั้น ผู้ใหญ่จะต้องปรับตัวเองก่อน ต้องทุ่มเทหัวใจก่อนว่าวันนี้เราพร้อมหรือยังที่จะใฝ่เรียน ไม่มีอะไรที่จะสายเกินเรียน วันก่อนผมเห็นคนอายุ 60 กว่าปีไปเรียนอินเตอร์เน็ต ผมชื่นชมมากเพราะว่าในอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นห้องสมุดโลก มีอะไรอีกมากมายที่เราสามารถเข้าไปท่องและเรียนรู้และสนุกกับมัน ถ้าเมื่อไรที่เด็กอ่านหนังสือในลักษณะที่ไม่เห็นความสนุกของตัวหนังสือก็จบ แต่การที่จะให้เด็กสนุกกับการอ่านหนังสือ ตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ๆนั้น เป็นสิ่งที่ต้องสร้างตั้งแต่โรงเรียน เพราะฉะนั้นก็ต้องย้อนกลับไปที่ระบบการศึกษาของไทย เด็กต้องท่องจำ ครูไม่สามารถที่จะสอนให้เด็กรู้ในห้องเรียนได้ เพราะขยักไว้สอนพิเศษบ้าง หรือว่าหลักสูตรเป็นหลักสูตรท่องจำบ้าง ซึ่งวันนี้เราได้ปฏิรูประบบการศึกษาแล้ว เราก็กำลังเปลี่ยน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนตรงจุดนี้ต้องให้ความสนใจและต้องเปลี่ยนตลอดไป
ก่อนที่ผมจะมาพูดเรื่องห้องสมุด ห้องสมุดนั้นเป็นสิ่งที่ถ้าคนไม่รักการอ่าน มีห้องสมุดเท่าไรก็ไม่อ่าน เป็นเหมือนไก่กับไข่ มีห้องสมุดก่อนจึงจะรักการอ่าน หรือรักการอ่านก่อนแล้วจึงมีห้องสมุด ไม่ต้องเถียงกัน เพราะถ้าเถียงกันเมื่อไรก็ไม่จบ ในที่นี้ไม่มีใครตอบผมได้ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ต้องไม่เถียงกัน ไก่มีหน้าที่ฟักไข่ก็ฟักต่อไปเรื่อยๆ ไข่มีหน้าที่เปลี่ยนเป็นไก่ก็เปลี่ยนเป็นไก่ มันก็จะมีทั้งไก่และไข่ตลอดไป นั่นก็คือเราจะต้องพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้เด็กเป็นคนรักการอ่าน ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรที่เกิดความเข้าใจมากกว่าเกิดการท่องจำ แล้วต้องให้เด็กใช้เวลามากเกินความจำเป็นของชีวิตเด็ก เด็กต้องตื่นไปโรงเรียนตั้งแต่ตีห้าเพราะรถติด ไปถึงโรงเรียนเรียนหนังสือก็ง่วงนอน ครูก็สอนได้ไม่เต็มที่เพราะตอนเย็นต้องสอนพิเศษต่อ พอถึงเวลาก็ท่องๆแล้วก็ไปสอบ เรื่องอย่างนี้ถ้าไม่เลิกหรือเลิกไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราฝันกันในวันนี้ที่จะทำห้องสมุดก็จะไม่เป็นจริง เราก็จะมีห้องสมุดที่ไม่มีคนอ่าน จะมีห้องสมุดที่เท่ๆ พอมีหนังสือก็ใส่เข้าไป เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องสร้างไปพร้อมๆกัน และที่แน่นอนห้องสมุดในวันนี้ต้องเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่ต้องใช้ ผู้ใหญ่วันนี้ต้องพร้อมปรับตัวที่จะใช้ห้องสมุด
ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่นั้น ทุนของ ก.พ. ที่ให้ไปก็น้อย แต่ผมต้องเก็บเงินถ่ายเอกสารเพราะว่าในวันนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต อ่านก็ไม่ทันเพราะตื่นเต้น ตอนอยู่ประเทศไทยไม่ค่อยมีหนังสือให้อ่านขนาดนั้น ไปเห็นห้องสมุดของเขาเจอหนังสืออะไรก็น่าอ่าน จนอ่านไม่ทัน อ่านอยู่ในห้องสมุดพอถึงเวลาเขาก็ปิดแล้ว ก็ต้องถ่ายกลับไปอ่านที่หอพัก ตลอดชีวิตที่ผมเรียนมานั้น ผมถูกเรียนให้เข้าใจในห้องเรียนมากกว่าถูกเรียนเพราะต้องท่องจำ ผมเป็นคนที่ท่องหนังสือตอนสอบน้อยที่สุด แต่ระหว่างเรียนนั้นผมเข้าใจแล้วก็ทำการบ้านให้เพื่อนลอก ผมยังมั่นใจว่าการเรียนรู้ที่เข้าใจในห้องเรียนนั้นเป็นหัวใจสำคัญ และเมื่อเข้าใจแล้วก็อยากที่เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก อันนี้ต้องสร้างหลักสูตรตั้งแต่ในวัยเด็ก ต้องปรับปรุงหลักสูตรในวัยเด็กให้ได้ ถ้าเราไม่ปรับปรุงแล้วเรายังคิดว่าจะต้องเรียนซ้ำซาก เรียนมากๆ ผมว่าผิด ใส่เข้าไปมากๆแล้วล้น ก็รับไม่ได้ ใส่ไปน้อยๆแต่รับได้ดีกว่า ใส่อะไรที่เป็นหลักคิดที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ท่านพุทธทาสได้พูดเอาไว้ว่าความรู้ทั้งโลกนั้นเปรียบเสมือนจำนวนใบไม้ที่มีอยู่ทั้งป่า นับเท่าไรก็ไม่ถ้วน มีจำนวนมาก แต่ความรู้ที่ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิตนั้นเปรียบเทียบได้กับจำนวนใบไม้เพียงกำมือเดียวเท่านั้น หลักมีแค่นั้น ถ้าเราไม่สอนหลักแล้วพยายามเอาใบไม้ทั้งป่ามาให้เด็กนับ ผลสุดท้ายเมื่อเด็กนับแล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าสอนให้เด็กรู้ว่านี่เป็นไม้ประเภทไหน เป็นป่าประเภทไหน เมื่อเด็กรู้หลักแล้ว เด็กก็สามารถที่จะนำไปใช้ต่อไปได้ นี่คือสิ่งที่จะต้องขอย้อน
พูดไปถึงเรื่องของการสร้างเด็กรุ่นใหม่ ต้องทำคู่ขนานเหมือนไก่กับไข่ เราต้องให้ไข่ฟักเป็นไก่เราต้องให้ไก่ออกไข่ต่อไป แล้วมันจะไปคู่กัน และในที่สุดก็จะมีทั้งไก่และไข่ตลอดไป นั่นคือระบบส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาความรู้ที่ต้องให้มีการเรียนรู้ ต้องมีข้อมูลก็ต้องทำไป แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ต้องสร้างเด็กให้ไปเจอกันให้ได้ ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ถ้าเราไม่ทำไปพร้อม ๆ กัน เราทำข้างใดข้างหนึ่ง หรือรอกัน ไม่ได้ แต่ระหว่างวันนี้ที่รอเด็กพัฒนาผู้ใหญ่ต้องใช้ห้องสมุด อย่าไปแปลกใจอะไรเลยถ้าสมมติว่ามีอธิบดีคนหนึ่งไปเข้าห้องสมุด แล้วไปนั่งอ่านหนังสือ ถ้าผมเห็นอย่างนั้นแล้วผมก็จะคิดว่ากระบวนการอยากเรียน อยากรู้ อยากพัฒนาตัวเองเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย หลายคนไม่อ่าน อ่านแต่หนังสือพิมพ์ แค่นั้นไม่พอ บทความไม่อ่าน มีผลการวิจัยต่างๆออกมาที่เกี่ยวข้องกับเรา เราจะได้รู้ว่าวันนี้ไปถึงไหนแล้ว เพราะพอมีคนทำวิจัยต่อเนื่องต่างๆเราจะได้รู้ นี่คือสิ่งที่ต้องให้ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง แล้วจึงจะสื่อกับเด็กด้วยภาษาใจได้ ถ้าสื่อกับเด็กโดยไม่มีภาษาใจ สื่อเพราะสั่งแล้วไม่มีทาง ต้องสื่อด้วยภาษาใจซึ่งผู้ใหญ่ต้องเริ่มปฏิบัติก่อน
วันนี้ผมดีใจกับเรื่องห้องสมุดของผม ผมอยากเห็นห้องสมุดชั้นดีที่ทุกคนอยากจะไป ผมบอกว่าเงินมี ให้ใครมาช่วยทำที ผมบอกมาเกือบสองปีแล้วไม่มีคนรับเลย นี่คืออีกหนึ่งธรรมชาติของสังคมไทย คือมีคนชอบฟังแต่ไม่มีคนชอบนำไปปฏิบัติ ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีคนที่จะอาสาเป็นเจ้าภาพ มีเรื่องอีกมากในประเทศไทยแต่ยังขาดเจ้าภาพ วันนี้ถ้ามีใครอาสา ถ้าเราขี้เกรงใจกันว่าจะเป็นเรื่องของหน่วยนั้นหน่วยนี้หรือเปล่า เดี๋ยวจะหาว่าเรายุ่งเกินไปหรือเปล่า ขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลนี้ต้องการเห็นเส้นแบ่งความเป็นเจ้าภาพอย่างชัดเจน แต่เส้นแบ่งอำนาจบังคับบัญชา เส้นแบ่งขององค์กรนั้นไม่จำเป็นต้องเข้ม กรณีที่มีการสร้างองค์กรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีระเบียบ องค์กรนั้นจะต้องยอมรับระบบการรายงานไขว้ แต่ความรับผิดชอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน สังคมไทยเป็นสังคมที่ตรงกันข้าม คือ ความเป็นเจ้าภาพไม่ชัดเจน การแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาเข้มมาก พื้นที่ของข้าใครอย่ายุ่ง แต่ว่าเรื่องนี้ถามว่าใครรับผิดชอบ เดินหาทั่วกระทรวงไม่เจอซักคน แม้แต่ปลัดกระทรวงยังไม่ใช่เจ้าภาพเลย แล้วจะเอาใครเป็นเจ้าภาพ ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยน เจ้าภาพต้องชัดเจน
วันนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรับเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เท่าที่ผมดูคร่าวๆ นั้นเหมือนกับเราจะมีห้องสมุดหลายระดับ ห้องสมุดระดับหมู่บ้าน ห้องสมุดระดับโรงเรียน ห้องสมุดระดับอำเภอ ห้องสมุดระดับภูมิภาค ห้องสมุด กทม. ห้องสมุดระดับชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงศึกษาฯ หรือหน่วยงานอื่นที่จะสร้างห้องสมุด ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่กระทรวงวัฒนธรรมนั้นดูแลหอสมุดแห่งชาติแน่นอน กระทรวงเทคโนโลยีฯก็จะใช้ระบบห้องสมุดที่มีการเชื่อมโยงกันได้ มี e-Library e-Book เพื่อที่จะได้ให้คนที่นั่งอยู่ในห้องสมุดเล็กๆแห่งหนึ่ง สามารถที่จะได้อ่านหนังสือจากห้องสมุดใหญ่ๆผ่านอินเตอร์เน็ตได้ และถ้าผมเข้าใจไม่ผิดก็คืออยากทำอย่างนั้น วันนี้ประเทศไทยต้องเรียนลัดไม่มีเวลามานั่งเพาะเมล็ดทีละเมล็ด ต้องขุดต้นไม้ใหญ่ๆจากป่ามา เก็บรากให้ดี ย้ายมาปลูกกลางเมืองก็ต้องทำ ไม่มีเวลาแล้ว เพราะโลกไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เราช้ากว่าเขามากๆแล้ว วันนี้ต้องเรียนลัดและเรียนเร็ว วันนี้เรามีประชากร 63 ล้านคน เราต้องใช้ความเร็วในการแข่งขัน ความเร็วในวันนี้ คนเป็นสิ่งสำคัญ มีรัฐมนตรีหลายคนจะตั้งคนเข้าไปทำงานก็มาถามผมว่ามีใครไหม ช่วยเสนอหน่อย เขานึกไม่ออก หายากมาก วันนี้หาคนที่เราคิดว่ามีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นได้ยากมาก วันนี้หลายองค์กรยังมีตำแหน่งว่างอยู่ ไม่รู้จะตั้งใคร นี่คือปัญหา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผมชอบนะ ผมทุกข์มาก เพราะฉะนั้นวันนี้ผมต้องการคนที่กล้าอาสา ผู้ใหญ่วันนี้ต้องเลิกเกรงใจ ต้องกล้าเป็นเจ้าภาพ ผิดถูกไม่เป็นไร ไม่มีคนที่ทำงานแล้วไม่มีผิด อยากถูกตลอดไปก็ไม่ต้องทำอะไรเลย คือไม่มีโอกาสผิดนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าคนทำงานแล้วอย่าไปกลัวผิด สำคัญว่าเราต้องมีหัวใจให้ชาติ มีหัวใจให้สังคมส่วนรวม ไม่ต้องไปกลัวอะไร แล้วงานราชการ งานสาธารณะนั้นให้เข้าใจว่ามันเป็นงานที่ไม่มีคำว่าขอบคุณหรอก ให้ใจเรามันบอกกับเราดีกว่าว่าได้ทำงานให้กับชาติบ้านเมืองแล้วอย่างเต็มที่ ขอให้หน่วยงาน ขอให้ประชาชนทุกคน ข้าราชการทุกคน ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน
มีคำที่ท่านพุทธทาสได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านคำหนึ่งว่า ถ้าจะให้ท่านสร้างพระนั้นท่านทำไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ท่านสร้างหนังสือ สร้างตัวหนังสือแล้ว ท่านเลือกที่จะสร้างตัวหนังสือดีกว่า เพราะมันให้ปัญญาคน และพระนั้นมีมากแล้ว นั่นคือหนังสือของท่านพุทธทาส เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการให้ปัญญากับเยาวชนของชาติและให้ปัญญากับสังคมของไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราในวันนี้ที่หลายคนอุตส่าห์ไปเรียนรู้มา ทั้งในประเทศบ้าง ต่างประเทศบ้าง ขอให้ความรู้ที่ยังเหลืออยู่ในตัวเราวันนี้ทิ้งไว้ให้กับสังคม ถ่ายทอดออกมาให้กับสังคม จะมากจะน้อยไม่เป็นไร ถ่ายทอดออกมาให้เต็มที่ แล้วเราก็พัฒนาตัวเราต่อไป และระหว่างที่เรากำลังพัฒนาตัวเองอยู่นั้นก็จะได้ถ่ายทอดต่อ อย่าลืมว่าวันนี้คนที่จบปริญญาตรีมาแล้วไม่ได้เรียนหนังสือต่อเลยทั้งชีวิตนั้น ผมเชื่อว่าท่านเหลืออยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังเป็นประโยชน์ ขอให้คายออกมาให้สังคม แล้วถ้าท่านเอาฐาน 10 เปอร์เซ็นต์ ของท่านไปพัฒนาต่อ ท่านอาจจะขึ้นมาเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แล้วถ้าท่านมีโอกาสได้คาย ทั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ ให้กับสังคม ก็ควรจะภูมิใจได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องมาช่วยกัน แต่อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองคายให้กับสังคม อย่าเขียนหนังสือบนความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือทางด้านสังคมศาสตร์ต่างๆ หลายคนได้เอาความเป็นดอกเตอร์ของตัวเองมาพูด แต่ที่พูดนั้นไม่ได้พูดแบบเอาความรู้ของดอกเตอร์มาใช้ เอาอารมณ์ของตัวเองที่มีวุฒิดอกเตอร์มาพูด แล้วให้คนมองว่าพูดแบบดอกเตอร์พูด สังคมก็เลยเข้าใจผิดคิดว่านี่คือดอกเตอร์พูด ที่จริงแล้วเป็นอารมณ์ของคนพูดที่ทิ้งดอกเตอร์ไปไว้ไหนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น วันนี้ถ้าหากเราช่วยกันนำความรู้ที่มีอยู่ มาช่วยกันคิดและถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมา แล้วก็ไปช่วยกันหาหนังสือ ช่วยกันวางระบบของห้องสมุด วางไว้ที่โรงเรียน ที่ชุมชนหรือที่ไหนก็ตาม คนละไม้คนละมือ ส่วนรัฐบาลนั้นก็พร้อมที่จะสนับสนุนในทุกมิติเพื่อให้เกิดการส่งเสริมความรู้ในการเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบ แต่ห้องสมุดนั้นถ้าท่านเห็นในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีห้องสมุดใหม่ 60,000 ตารางเมตร และก็มีทูตส่งไปเชิญคนมาใช้ห้องสมุด มาเรียนรู้ เพราะเขาต้องการเห็นคนเรียนรู้
หนังสือทุกเล่มมีคุณค่า แต่อ่านแล้วอย่าเชื่อทั้งหมด พระพุทธเจ้าทรงพูดถึง การามสูตร อย่าไปเชื่อเพราะปราชญ์พูด อย่าไปเชื่อเพราะคนนั้นคนนี้พูด แต่ต้องเชื่อจากการเรียนรู้ ถ้าเราไปหลงเชื่อตามเขาง่ายๆ เราก็จะไม่รู้จริง ถ้าอยากจะรู้จริงก็ต้องอ่านหนังสือหลายๆเล่ม หลายเล่มเป็นเรื่องดี แต่หนังสือทุกเล่มมีความดีของตัวเองอยู่ แต่ว่าต้องอ่านมากๆ แล้วเราจะรู้ และต้องคอยตรวจสอบ แม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นศาสตร์ที่ถูกต้อง เมื่อวิวัฒนาการเปลี่ยนไปสิ่งที่เคยถูกต้องในอดีตก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกต้องในอนาคต ถ้าท่านเห็นคนที่ดีรับรางวัลโนเบล ไพรซ์ สาขาเศรษฐศาสตร์ในปีที่ผ่านมา ก็จะชัดเจนว่ารางวัลโนเบล ไพรซ์ ได้ถูกจัดแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมอบให้กับนักเศรษฐศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งมอบให้กับนักจิตวิทยา เพราะนักจิตวิทยานั้นได้นำเอาระบบ experimental design เข้าไปใส่แล้วทำการวิจัย พบว่าการตัดสินใจในเชิงอุปสงค์ อุปทาน นั้นไม่สมเหตุสมผล แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าการตัดสินใจบนพื้นฐานเพื่ออุปสงค์ อุปทาน นั้นเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุ สมผล เห็นไหม เมื่อเหตุการณ์ต่างๆเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ถ้าท่านอ่านหนังสือเก่าๆ เล่มหนึ่งของ บิลล์ เกตส์ เรื่อง THE ROAD AHEAD เขาก็พูดบอกว่าถนนที่ลากจากอดีตมาถึงปัจจุบันนั้น อยู่คนละระนาบกับถนนที่ลากจากปัจจุบันไปสู่อนาคต แต่ถ้าเป็นทฤษฎีสมัยเก่าแล้วเราก็จะลากเส้นจากอดีตมาถึงปัจจุบันแล้วก็ทำนายอนาคต ซึ่งทำนายผิดหมด เพราะส่วนประกอบของการเป็นอนาคตจากปัจจุบันนั้น กับส่วนประกอบที่เป็นปัจจุบันจากอดีตนั้น เป็นคนละส่วนประกอบ เพราะโลกได้เปลี่ยนไปอย่างแรง เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือจึงเป็นการอ่านที่ต้องอ่านมากๆแล้วเปรียบเทียบ อย่าท่องจำ อ่านแล้วทำความเข้าใจ เข้าใจหลักคิด เข้าใจวิธีคิด เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องอ่าน อ่านแล้วถ่ายทอด แล้วต้องถ่ายทอดอย่างมีความสนุก เล่าให้ฟังอย่างมีความรู้ เล่าให้ฟังอย่างสนุกแล้วเด็กจึงจะเกิดความสนุก ความสนุกที่สร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลย แต่สำคัญว่าท่านทั้งหลายต้องเอาจิตวิญญาณใส่กับมันให้ได้ ถ้าท่านไม่มีจิตวิญญาณที่จะไปอ่านหนังสือ ไม่ชอบอ่าน ก็ไม่มีทาง ต้องทนฝืน ถ้ายังไม่ชอบในตอนแรกก็อ่านอะไรก็ได้ที่ท่านคิดว่าจะชอบ แล้วจากนั้นก็ค่อยอ่านในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบแต่อยากรู้ แล้วต่อมาตอนหลังท่านก็จะชอบเอง ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านนิยาย จะให้ผมนั่งดูละครกับลูกผมนั่งดูได้ แต่จะให้ผมอ่านหนังสือนิยายแล้วผมไม่เคยอ่าน ถ้าจะอ่านก็อ่านพวกนิยายวิทยาศาสตร์นิดหน่อย แต่ก็ไม่มาก แต่จะชอบอ่านพวกที่เป็นตำรา หรือกึ่งไปทางตำรา พวกผลการวิจัยต่างๆ ผมชอบและอ่านได้สนุก เพราะฉะนั้นคนที่อ่านพวกนี้ไม่สนุกก็ต้องไปอ่านพวกนิยาย
วันนี้ที่ท่านได้มารวมกันเพื่อที่จะสร้างสถาบันพัฒนาความรู้ของชาติ ผมก็ขอขอบคุณ เพราะอย่างน้อยๆ จุดเริ่มต้นก็เกิดแล้ว เป็นวันเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ของอนาคตลูกหลานเราที่ดี และผมพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกๆด้าน เราเสียเงินในเรื่องโง่ๆ ไปมากแล้ว ถ้าเราจะเสียเงินในเรื่องที่จะสร้างความฉลาดให้กับสังคมบ้าง ผมว่าคุ้ม เราอุตส่าห์ทำอะไรโง่ๆ มากแล้ว ขุดคลองโง่ๆก็ทำมาแล้ว วันนี้เรามาทำเรื่องฉลาดๆ บ้าง จะเสียเงินบ้างก็ไม่ต้องกลัวคนว่า แล้วผมพร้อมที่จะปะทะ ใครจะว่าก็ว่าถ้าผมจะสร้างปัญญาให้กับสังคม เพราะฉะนั้น วันนี้ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายคิดว่ามีอะไรที่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาดีๆให้มองทั้งระบบ แต่อย่าทิ้งอย่าขว้าง เรายังไม่ร่ำรวย เราต้องประหยัด สร้างแล้วต้องมีคนใช้ตลอดเวลา สมมติว่าสร้างถนนขึ้นมาถนนหนึ่งแล้วไม่มีใครใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าสร้างถนนขึ้นมาแล้วมีรถมาใช้มาก สามารถระบายการจราจรได้ ทำให้เศรษฐกิจดี อย่างนั้นภูมิใจได้ เหมือนกันกับห้องสมุดที่ท่านจะสร้าง ท่านต้องสร้างแล้วให้คนมาใช้ให้ได้ ถ้าท่านจะสร้างห้องสมุดแบบใหม่มีระบบ e-Library e-Book หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะสามารถทำให้เด็กไทย รวมถึงผู้ใหญ่ไทยในปัจจุบันได้เข้าไปสู่การเรียนรู้ และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้นั้น ท่านสร้างมาเลย บรรยากาศจะมีอะไรบ้าง จะมีระบบอะไรบ้าง ทันสมัยขนาดไหน ถ้าท่านทำอย่างนั้นจะต้องใช้เงินเท่าไร ผมยินดีสนับสนุน ขอให้บอกผมมาเลย วันนี้มีเรื่องให้ทำมากมาย ถ้าเมื่อไรมีเจ้าภาพและเป็นเจ้าภาพที่ทุ่มเทใจให้กับงานนั้นผมจะขอบคุณมาก แล้วผมพร้อมที่จะสนับสนุน
วันนี้ผมก็ต้องขอขอบคุณกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขอขอบคุณทุกท่าน รวมทั้งภาคเอกชนด้วย อันนี้เป็นความรู้สึกในใจลึกๆจริงๆ บางทีผมเห็นเยาวชนนั่งดูหนังสือ เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือแล้วผมมีความสุข ผมชอบ ผมอยากเห็น เวลาลูกผมเข้าอินเตอร์เน็ตไปดูหนังสือต่างๆ ผมเข้าไปให้กำลังใจเขา เพราะผมมีความรู้สึกว่ายังมีเรื่องให้เราได้เรียนรู้ตลอดไป ตราบใดที่เรายังคิดว่าเรายังต้องอยู่ในองค์กร อยู่ในประเทศ ก็จะต้องตื่นตัวและเรียนรู้ตลอด แต่ถ้าเมื่อไรไม่เรียน ปัญญาจมอยู่กับเรื่องว่ากันไปว่ากันมาแล้ว ผมว่าประเทศไปไม่รอด เพราะฉะนั้นผมขอให้ท่านทั้งหลายสร้างมิติใหม่ ขอขอบคุณ หวังว่าการสัมมนาในวันนี้คงจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ขอบคุณครับ".....